ไม่พบผลการค้นหา
ตอบทุกประเด็นสงสัยเรื่องงูเห่า ทำไมพรรคไม่ขับออก ทำไมส.ส.ไม่ลาออกเอง และตอบคำถามในเชิงหลักการ สรุปแล้ว ส.ส.ควรมีเอกสิทธิ์โหวต หรือควรโหวตตามมติพรรค

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา (16-20 ก.พ.2564) นอกเหนือจากข้อมูลหนักหน่วงของพรรคฝ่ายค้านที่ฟาดใส่ฝ่ายรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนฮือฮาไม่แพ้กันคือ การค้นพบ ‘งูเห่า’ ในหลายพรรค โดยเฉพาะในพรรคก้าวไกล

คำถามน่าจะเกิดขึ้นในใจใครหลายคน ว่า

  • ทำไมพรรคไม่ขับส.ส.เหล่านี้ออกไปเสีย
  • ทำไม ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรค ไม่ลาออกจากพรรคเอง แล้วย้ายพรรค

เราจะตอบทั้งสองคำถามนี้พร้อมกับทำให้เรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก ด้วยการเล่าถึงข้อถกเถียงเชิงหลักการว่า

  • จริงๆ แล้ว ส.ส.ควรมีเอกสิทธิ์ในการโหวต หรือ ควรยึดถือมติรวมของพรรคเป็นหลัก

1.    ‘งูเห่า’ คำนี้มาจากไหน?

สมัคร สุนทรเวช สมัยเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทยเป็นเจ้าของคำนี้ ‘ชาวนากับงูเห่า’ ในปี 2540 หลังพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกฯ เพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการแข่งกันเป็นรัฐบาลของสองค่าย คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติพัฒนา กับ ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแปรสำคัญคือ พรรคประชากรไทย สมัคร สุนทรเวช ตั้งใจจะไปรวมกับชาติชาย แต่ลูกพรรคจำนวน 13 คน นำโดยวัฒนา อัศวเหม ดันโหวตให้ชวนจนชวนได้เป็นนายกฯ คนถัดมา

สภาพการณ์เช่นนี้เป็นมาตลอดก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งส่วนหนึ่งตั้งใจออกแบบให้มีพรรคการเมืองใหญ่และมีนายกฯ ที่เข้มแข็ง จะได้มีเสถียรภาพในการบริหาร แก้ไขปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคร่วมเยอะและงูเห่ายั้วเยี้ยะ

2.    ทำไมพรรคไม่ขับ ส.ส.งูเห่าออกไปเลย ?

การเปรียบเทียบว่า ‘เตะหมูเข้าปากหมา’ ของเลขาธิการพรรคก้าวไกล น่าจะตรงสถานการณ์มากที่สุด

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ถ้าพรรคขับ ส.ส.ออกจากพรรค เขาผู้นั้นจะยังไม่พ้นสภาพการเป็น ส.ส. และสามารถย้ายพรรคได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 กำหนดว่า ถ้าพรรคขับส.ส.คนไหนออก คนนั้นจะหมดสภาพ ส.ส.ทันที ดังนั้น ด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แม้จะอยากขับไสไล่ส่งกันขนาดไหน พรรคก็ต้องกัดฟันเพื่อไม่ให้ ส.ส.คนนั้นได้ย้ายพรรคง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อพรรคก้าวไกลมีประสบการณ์ตรงกับ ‘งูเห่าศรีนวลและพวก’ มาแล้ว ตอนนั้นพรรคมีมติขับออกจากพรรค เหล่า ส.ส.ก็สามารถย้ายไปอยู่ภูมิใจไทยและพลังประชารัฐได้ เพิ่มแต้มให้ขั้วตรงข้ามเสียฉิบ

การขับ ส.ส.ออกจากพรรค นอกจากส่งผลให้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคน้อยลงแล้ว ยังส่งผลต่อสัดส่วนที่นั่งใน ‘คณะกรรมาธิการ’ (กมธ.) ชุดต่างๆ ในสภาผู้แทนฯ ด้วย โดย กมธ.เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ และทำให้เข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  

ยกตัวอย่างพรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน กมธ.สภาผู้แทนฯ มีทั้งหมด 35 คณะ คณะละ 15 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 525 ที่นั่ง สัดส่วนที่นั่งใน กมธ.ของแต่ละพรรคจะคำนวณตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่นั่งของ ส.ส.พรรคนั้นๆ เทียบกับจำนวนทั้งหมด ปัจจุบันก้าวไกลซึ่งมี ส.ส. 53 คน ได้โควตาที่นั่งใน กมธ.ต่างๆ รวม 57 ที่นั่ง และจะได้โควตาประธาน กมธ. จำนวน 4 ที่นั่ง หากขับส.ส.งูเห่าออกก็จะยิ่งทำให้สัดส่วนใน กมธ.หายไป  และโควตาประธาน กมธ.ก็จะหายไป 1 ที่นั่ง

3 ทำไม ส.ส.ที่อยากย้ายพรรคไม่ลาออกเอง ?

ถ้าเรื่องมันง่ายขนาดนั้น คงมีคนลาออกกันวุ่นวาย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ถ้าส.ส.ลาออกเองก็จะพ้นสมาชิกภาพส.ส.ทันที ข้อนี้เหมือนกันทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 2550 2560 ดังนั้น โจทย์ของ ส.ส.ที่อยากย้ายพรรคจึงเป็นว่า ทำยังไงก็ได้ให้โดนขับออกจากพรรค

4 หลักการที่ควรจะเป็น : มติพรรค กับ เอกสิทธิ์ ส.ส.

เป็นเรื่องที่เถียงกันมานานแล้วว่า เวลาโหวตเรื่องใดๆ ส.ส.ควรมีอำนาจตัดสินใจโดยไม่ต้องสนมติของพรรค หรือ ส.ส.ควรโหวตตามมติของพรรคเพื่อความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนนโยบายและจุดยืนที่พรรคประกาศต่อประชาชน

ในอดีตหากพิจารณาจากกรอบรัฐธรรมนูญ แม้ไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา แต่ก็จะมีกรอบบางอย่างที่ทำให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ โปรเอกสิทธิ์ ส.ส.หรือ เอกภาพพรรค

รัฐธรรมนูญ 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะมันออกแบบให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หากส.ส.คนใดโหวตสวนมติแล้วถูกขับออกก็จะสิ้นสภาพ ส.ส.ทันที และการจะเป็นส.ส.ก็บังคับให้ต้องสังกัดพรรคการเมืองด้วย เรียกว่าพรรคคุม ส.ส.ได้ค่อนข้างเด็ดขาด รัฐบาลทักษิณที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จึงมีความแข็งแกร่งมาก มากจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร และการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือ 2550, 2560 ก็กลายเป็นมุ่งทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง แล้วโปรเอกสิทธิ์ของส.ส. เพราะมองว่าพรรคใหญ่ครอบงำส.ส.ตนเองได้เบ็ดเสร็จ เมื่อโหวตในสภาก็จะชนะตลอด จนเกิดวาทกรรม ‘เผด็จการรัฐสภา’ ขึ้นในช่วงพีคของรัฐบาลทักษิณ

รายงานวิจัยของสกว.ว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง เผยแพร่เมื่อปี 2550 จัดทำโดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ ระบุตอนหนึ่งว่า ทศวรรษ 2540 การตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่มีประสิทธิภาพเพราะหัวหน้าฝ่ายบริหารมีอำนาจคุมส.ส.เสียงข้างมาก และส.ส.เสียงข้างมากก็ถูกควบคุมจากพรรคการเมืองอีกชั้นหนึ่ง การสร้างระบบตรวจสอบให้เข้มแข็งขึ้นจึงต้องปฏิรูปให้ ส.ส.มีอิสระตามหลักการ free mandate เพราะส.ส.เป็นตัวแทนปวงชนไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลทักษิณ อธิบายเรื่องนี้ว่า ประเด็นนี้ต้องดูในแง่วิวัฒนาการทางการเมืองไทย ก่อนยุครัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์กับส.ส.ออกเสียงโดยไม่ต้องคำนึงถึงแนวนโยบายของพรรค ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกขับออกจากพรรค ทำให้ช่วงนั้นมีประเด็นเกี่ยวกับการรับผลประโยชน์จากผู้มีอำนาจจนมีเสียงซุบซิบล่ำลือเรื่อง “ห้องน้ำในสภา”

“ถ้าลงมติตามที่ผู้มีอำนาจต้องการแล้วก็รับผลประโยชน์กันตรงนั้นเลย นั่นเป็นโลกในยุคนั้น พอมาถึงรัฐธรรมนูญ40 จึงมีแนวคิดว่าจะสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ40 จะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มี ‘งูเห่า’ เกิดขึ้นอีก จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ60 ที่เห็นว่าส.ส.มีเอกสิทธิ์โหวตได้เราจึงเห็นสภาพเดิมวนกลับมา” สุรพงษ์กล่าว

แล้วในทางหลักการควรเป็นเช่นไร ?

นพ.สุรพงษ์ ตอบคำถามนี้ว่า หากพูดในเชิงหลักการรัฐธรรมนูญ ในหลายประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยมาเป็นเวลานาน เขาจะให้เอกสิทธิ์ ส.ส. เช่น สหรัฐอเมริกา จะเห็นว่า หลายเรื่อง ส.ส.เดโมแครต รีพับลิกัน ไม่จำเป็นต้องโหวตตามมติพรรคเสมอไป หรือบางครั้งถ้าดูซีรีส์การเมืองอเมริกันจะเห็นว่ามีการล็อบบี้ ส.ส.เป็นกลุ่มแบบข้ามพรรค ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ส.ส.ต้องคำนึงถึงฐานเสียงตนเอง หากเรื่องที่จะโหวตนั้น กระแสประชาชนในพื้นที่ค้านกับมติพรรค เขาก็พร้อมจะโหวตสวน เพื่อบอกกับประชาชนว่ายังยืนยันผลประโยชน์ของพื้นที่

“แต่ในประเทศไทยต้องยอมรับว่ามันยังไม่มาถึงจุดแบบนั้น หากมองจากพัฒนาการแบบนี้ ผมคิดว่า ในเบื้องต้นการพยายามทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งอาจเป็นเรื่องจำเป็น จนกระทั่งการเมืองของเราพัฒนาจนไปถึงจุดที่ทำให้ ส.ส.ที่เข้ามาผ่านการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ผ่านการพิสูจน์ตัวเองกับประชาชนแล้ว ถ้าตอนนั้นคิดว่า ส.ส.ควรมีเอกสิทธิ์ ก็กลับมาพิจารณาทบทวนกันอีกครั้ง”

“การมีพรรคการเมืองเข้มแข็งมันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ในยุคหนึ่งมีพรรคการเมืองเยอะมาก เกิดดับเกิดดับกันไปเรื่อยๆ ไม่สามารถสร้างการเมืองที่มีฐานประชาชนได้อย่างจริงจัง เราจะเห็นพรรคการเมืองเข้มแข็งอยู่ไม่กี่พรรค ไม่มีพรรคที่ชูนโยบายแตกต่างกันสองค่ายอย่างชัดเจน ช่วงปี 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตั้งรัฐบาลมีพรรคร่วมรัฐบาล 16-17 พรรค คล้ายๆ รัฐบาลคุณประยุทธ์นี่แหละที่มีพรรค 1 คนเยอะแยะไปหมด”

งูเห่า กับรัฐธรรมนูญ 60


สุรพงษ์กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ก็ด้วยกฎกติกาที่เอื้อให้เป็นเช่นนั้น และจะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในระหว่างพรรคการเมือง ทำให้พรรคต่างๆ ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะรู้ว่าคนที่จะลงคะแนนเสียงจะดูว่า 1.พรรคมีจุดยืนอย่างไร 2.พรรคมีนโยบายอย่างไร 3. คนที่พรรคเลือกมาลงสมัคร ส.ส.เขาก็ต้องมั่นใจได้ว่าจะทำตามนโยบายของพรรคที่บอกประชาชนไว้

“ถ้าเราไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งได้ มันก็จะไม่ชัดเจนแล้ว เพราะไม่ว่าพรรคประกาศยังไง ส.ส.ที่ได้รับเลือกไม่ทำก็ได้ ประชาชนก็จะรู้สึกว่า แล้วยังไง อุตส่าหก์เลือกไปแล้วทำไมไม่ทำตามนั้น”

ด้าน พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.จากก้าวไกลซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพรรคที่มี ‘งูเห่า’ มากที่สุดพรรคหนึ่ง ให้ความเห็นส่วนตัวว่า พรรคการเมืองมีความจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน

“ไม่อย่างนั้นเราจะมีพรรคการเมืองไปทำไม มันเป็นสิ่งที่ยึดโยงอุดมการณ์ความเชื่อเดียวกันเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม หากส.ส.โหวต มีความจำเป็นจริงๆ ต้องลงมติแตกต่างจากพรรค พิจารณ์บอกว่าเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ในที่ประชุม โดยตัวอย่างกฎหมายทำแท้ง ส.ส.บางคนมีความเชื่อทางศาสนาซึ่งขัดต่อกฎหมายนี้ไม่สามารถโหวตได้ มีการชี้แจงกันในที่ประชุม แล้วก็เคารพกัน ยอมรับกัน