ไม่พบผลการค้นหา
กรมธุรกิจพลังงานเปิดตัวเลขปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ครึ่งแรกของปี ติดลบร้อยละ 13.8 ตัวเลขทั้งปีดีขึ้นเล็กน้อย จ่อติดลบร้อยละ 8.7 รับสถานการณ์หนักกว่าครั้งต้มยำกุ้ง

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน แถลงสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งแรกของปี 2563 ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 137.7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ตัวเลข 6 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 159.8 ล้านลิตร/วัน 

ก.พลังงานประชุมเชื้อเพลิง
  • นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน

เมื่อแบ่งตามประเภทน้ำมัน ครึ่งแรกของปีนี้ กลุ่มเบนซินมีปริมาณใช้งานเฉลี่ย 29.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนราวร้อยละ 7.6 ขณะกลุ่มดีเซลปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2562 จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตร/วัน เหลือเพียง 65.6 ล้านลิตร/วัน 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ชี้ว่า ปริมาณเชื้อเพลิงในฝั่งน้ำมันอากาศยานลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ โดยมีสัดส่วนการลดลงในครึ่งแรกของปีนี้ถึงร้อยละ 48.9 จากเดิมที่ 19.9 ล้านลิตร/วัน เหลือเพียง 10.2 ล้านลิตร/วัน

ในจำนวนดังกล่าว สัดส่วนหลักมาจากน้ำมันอากาศยานในเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ท่ีมีปริมาณการใช้งานลดจาก 19.7 ล้านลิตร/วัน ในครึ่งแรกของปี 2562 ลงมาเหลือ 9.9 ล้านลิตร/วัน ในครึ่งแรกของปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมากจากมาตรการปิดประเทศ ขณะสัดส่วนนำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินทหารคงตัวเท่าเดิมที่ 3 แสนลิตร/วัน

นอกจากนี้ ปริมาณการใช้น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และ LPG ซึ่งเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว ลดลงในสัดส่วนร้อยละ 21.9 , 16.8 และ 16.0 ตามลำดับ


ทั้งปีติดลบสูงสุดในประวัติศาสตร์

น.ส.นันธิกา อธิบายเพิ่มว่า เมื่อคำนวณการคาดการณ์การใช้เชื้อเพลิงทั้งปี 2563 กรมฯ มองไว้ที่การใช้เชื้อเพลิงรวม 143.59 ล้านลิตร/วัน ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับตัวเลขการใช้งานเชื้อเพลิงตลอดทั้งปี 2562 ที่อยู่ที่ 157.33 ล้านลิตร/วัน

โดยระดับการใช้พลังงานที่ลดลงนี้ เป็นระดับที่มากกว่าครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ระหว่างปี 2539-2540 ที่สัดส่วนการใช้พลังงานลดลงเพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น จากระดับการใช้พลังงานรวม 112.4 ล้านลิตร/วัน ลดลงมาอยู่ที่ 111.9 ล้านลิตร/วัน จึงเรียกได้ว่าสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดกระทบปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศมากที่สุด