ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในสถานการณ์แบบนี้ ยากที่จะอยู่รอด เมื่อไม่มีรายได้ แต่ยังต้องมีรายจ่าย การถ่วงดุลรายรับ-รายจ่าย จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่สุด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำทุกอย่างหยุดชะงัก เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่หนี้ไม่พ้นจากวิกฤติครั้งนี้ย่อมเป็นพื้นที่ที่พึ่งต่างชาติอย่างเป็๋นหลัก ‘สมุย’
โดยสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวของสมุย คิดเป็น 95% ของจีดีพีในเกาะสมุยทั้งหมด หรือมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมในสมุยมีทั้งหมด 660 ราย ขณะนี้มีการเปิดให้บริการเพียง 150 รายเท่านั้น
หวั่น ‘ทุนจีน’ กินรวบเกาะสมุย
หนึ่งในความเป็นห่วงที่สำคัญของผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะสมุย คือ ‘การเทคโอเวอร์กิจการโดยต่างชาติ’ ซึ่งในประเด็นนี้ ‘วิรัช พงศ์ฉบับนภา’ เจ้าของโรงแรมพาวิลเลี่ยน สมุย วิลล่า แอนด์รีสอร์ท ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่บนเกาะสมุย เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันการเงินของไทยเกือบทุกแห่งปฏิเสธที่จะปล่อยสินชื่อ หรือ รีไฟแนนซ์ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะสมุย ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง และหมดสภาพในการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้กิจการบางส่วนถูกยึดโดยธนาคารจีน ดังนั้นจึงมีความเป็นห่วงว่าหากปล่อยสถานการณ์ไว้เช่นนี้จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวเสียหาย และทำให้ทุนจีนเข้ามายึดการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตได้ในไม่ช้า
“แบงก์พาณิชย์ไทยไม่มีเข้ามาช่วย เพราะหน้าที่ของเขา คือ หากำไร การที่จะมาแบกภาระกับภาวะที่ไม่รู้จักจบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจเขา แต่ถ้าเราไปไม่ไหวจริงๆ และเราติดหนี้มาก เขาบอกว่ามีนายทุนพร้อม ทั้งทุนต่างชาติ ทั้งทุนไทย มีคนกลางคอยวิ่งผ่านแบงก์ได้ทั้งนั้น ตอนนี้ทุนจีนมารอทั้งที่ภูเก็ต ทั้งที่สมุย โดยเฉพาะที่ภูเก็ตเข้าไปมากแล้ว จีนเขาแผ่ไปเรื่อยๆ”
‘วิรัช’ บอกว่า แม้ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะสมุยจะกลับมาเปิดให้บริการเกือบเต็ม 100% แต่ปัจจุบันอัตราการเข้าพักค่อนข้างต่ำ หรืออยู่ที่ 0-5% เท่านั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 90% แม้จะลดราคาห้องพักลงไปแล้วถึง 70% แต่สถานการณ์ก็ยังถือว่ายังน่าเป็นห่วงเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทั้งหมด
เสนอ 3 ข้อเรียกร้องช่วยผู้ประกอบการเกาะ ‘สมุย’
ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะสมุยเรียกร้องหลักๆ คือขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายระยะเวลาการเป็นหนี้เสีย (NPL) จากเดิมที่ผิดนัดชำระหนี้ 3 เดือนเป็น NPL ให้ขยายเป็น 1 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีรายได้ไปชำระหนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่เป็น NPL ก็ไม่ต้องเข้าเครดิตบูโร โดยหวังว่าผู้ว่าฯธปท. คนปัจจุบัน ที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่งจะทำได้
นอกจากนี้ต้องการให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้จาก 10 ปี เป็น 20 ปี และปรับวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นแบบขั้นบันได พร้อมเสนอสร้างสะพานข้ามทะเลเชื่อมจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มายังเกาะสมุย ระยะทาง 18 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวไทยจะเดินทางเที่ยวเกาะสมุย และช่วยลดค่าครองชีพบนเกาะ เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินที่ทางเลือกไม่มาก
“อุปสรรค คือ เครื่องบิน และเฟอร์รี่ เรือเฟอร์รี่ ถ้าจะมา ต้องรอคิว 3 ชั่วโมง ถ้ามาเครื่องบินไปมาเป็นหมื่นบาท ราคานี้คุณไปสิงคโปร์ได้ ไปฮ่องกงได้ จะมาสมุยทำไม”
ชี้รัฐใช้ 20,000 ล้านกระตุ้นเที่ยวในประเทศผ่าน ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เปล่าประโยชน์
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาทของรัฐบาล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย ยอมรับว่า ได้รับอานิสงค์อยู่ แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะนักท่องเที่ยวไทยยังคงนิยมเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ และในเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ที่มีเที่ยวบินหนาแน่น รวมถึงนครศรีธรรมราช ที่มีกระแส ‘ไอ้ไข่’ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่ายังเป็นมาตรการที่ไม่ได้ช่วยภาคการท่องเที่ยวมากนัก โดยเห็นว่ารัฐควรใช้งบประมาณกับมาตรการที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศจะมีประโยชน์มากกว่า เช่น การตรวจคัดกรองที่เข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางและตรวจสอบซ้ำในปลายทาง และมีมาตรการติดตามตัวที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และยังทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศได้
หวังเปิดประเทศ ให้ต่างชาติฟื้นท่องเที่ยวไทย
หนึ่งแนวทางสำคัญที่ผู้ประกอบการบนเกาะสมุยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว คือ ความชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ‘สิริมณี ทองคณารักษ์’ ผู้ดูแลโรงแรมขวัญ บีช รีสอร์ต แอนด์ ลักชัวรี แกลมปิง แอนด์ พูล วิลลา สมุย เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่โรงแรมได้รับผลกระทบหนักสุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปสูงถึง 97% ส่วนที่เหลืออีก 3% เป็นคนจีน รัสเซีย อาเซียน และไทยรวมกัน ซึ่งเมื่อมีการปิดประเทศและยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ จึงถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยก่อนปิดประเทศ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค. 2563) มีรายได้ประมาณ 6.5 ล้านบาท แต่ ณ ปัจจุบันเรียกว่าแทบเป็นศูนย์ แม้จะเร่งปรับตัวรับนักท่องเที่ยวไทยแล้ว ด้วยการปรับราคาลงกว่า 50% แต่อัตราการเข้าพักก็ยังอยู่ไม่เกิน 15% เท่านั้น ขณะที่อัตราการเข้าพักยังต่างกันมาก ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าไทยจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเร็ว
“พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยจะพัก 1 คืน ต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักกัน 2-3 สัปดาห์ จึงมีช่วงรอยต่อที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเข้าพักได้”
หวังวัคซีนโควิดได้ผล ดัน นนท.สมุยปีหน้าแตะ 8 แสนคน
‘วรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์’ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของการท่องเที่ยวเกาะสมุย ณ วันที่ 25 ธ.ค.นี้ มียอดจองห้องพักเข้ามาเพิ่มขึ้น 15% เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นเดือนที่มียอดเข้าพัก ประมาณ 8-10% ขณะที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 มียอดจองเข้ามาประมาณ 30% ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าช่วงที่เกิดโควิดเป็นอย่างมาก โดยเป็นผลมาจากการลดราคาตั๋วเครื่องบิน รวมไปถึงการลดค่าห้องพักลงกว่า 70% รวมถึงมาตรการของรัฐ
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และมีวัคซีนภายในเดือนก.ค. 2564 จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในสมุยมากขึ้น และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ 8 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 15% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีก่อน ที่มีทั้งหมด 2.5 ล้านคน หรือมีรายได้เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น
‘ออมสิน’ เดินหน้า ‘สมุยโมเดล’ ต่อลมหายใจผู้ประกอบภาคการท่องเที่ยว
ล่าสุดธนาคารออมสิน ได้นำร่องโครงการ ‘สมุยโมเดล’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวบนเกาะสมุยผ่านการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับสินเชื่อมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องการให้ธนาคารออมสินผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ให้ผู้ประกอบการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายถูกปฏิเสธสินเชื่อในเบื้องต้น โดยต้องกลับไปเจรจาขอสินเชื่อเพิ่มเติมกับสถาบันการเงินรายเดิมที่เป็นลูกค้ากันอยู่
แม้ว่าขณะนี้สัญญาณชีพของผู้ประกอบการสมุยจะเริ่มเต้นมีจังหวะมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าไม่สามารถทำได้แค่ฝ่ายเดียว นอกจากผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวแล้ว การช่วยเหลือจากภาครัฐก็จำเป็น นโยบายรัฐจะต้องเร็วและแรง เพื่อให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายพันหลายหมื่นชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ อย่าให้ผู้ประกอบการที่กำลังยืนอยู่บนฟางเส้นสุดท้ายขาดลง เมื่อนั้นคงจะเหลือแค่ชื่อ และยากที่จะเยียวยา หรือปั้มลมหายใจให้กลับมาเป็นปกติได้