ไม่พบผลการค้นหา
คลังกางตัวเลข ปชช. 9 กลุ่ม 66 ล้านคน รัฐบาลดูแล ย้ำไม่มีตกหล่น ไม่ทำซ้ำซ้อน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในแถลงของ ศบค. วันนี้ (16 พ.ค.) ถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า การเยียวยาประชาชนไม่ได้มีแค่การแจกเงิน 5,000 บาทเท่านั้น มาตรการอื่นๆ กำลังจะตามออกมาอีกเป็นระยะ

โดยในประชาชน 66 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มแรงงาน จำนวน 11 ล้านคน ที่อยู่ในส่วนการรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม
  • กลุ่มแรงงานอิสระ จำนวน 15 ล้านคน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง ที่ให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อรับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563)
  • กลุ่มเกษตรกร จำนวน 10 ล้านคน อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลส่งกระทรวงการคลังเพื่อจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท/ครอบครัว เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.2563)
  • เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ/ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการในท้องถิ่น จำนวน 3 ล้านคน อยู่ในความดูแลของรัฐบาลอยู่แล้ว สิทธิที่ได้รับคือไม่ถูกลดเวลาทำงาน วันทำงานเงินเดือน
  • กลุ่มเปราะบาง คือ เด็กแรกเกิด, ผู้สูงอายุ, และผู้พิการ จำนวน 13 ล้านคน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขณะนี้รอทางกระทรวง พม. เสนอมาตรการให้การช่วยเหลือ
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.4 ล้านคน (จากผู้ถือบัตรฯ ทั้งหมด 14.6 ล้านคน) ต้องรอการตรวจสอบเพื่อไม่ให้การเยียวยาซ้ำซ้อนกัน
  • กลุ่มลงทะเบียน "เราไม่ทิ้งกัน" ไม่สำเร็จ จำนวน 1.7 ล้านคน สามารถร้องเรียนได้ที่ธนาคารของรัฐ (ออมสิน, กรุงไทย, ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ เนื่องจากที่กรมประชาสัมพันธ์ปิดศูนย์รับเรื่องไปแล้วเมื่อ 15 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา และยืนยันว่า กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลแน่นอน
  • ผู้ได้รับผลกระทบว่างงานกรณีฉุกเฉิน จำนวน 1 ล้านคน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
  • กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 13.5 ล้านคน

โดยทุกกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นนั้นต้องถูกตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการได้รับการช่วยเหลือ

นอกจาก มาตรการช่วยเหลือประชาชนใน 9 กลุ่มแล้ว นายลวรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังมีมาตรการที่ให้การช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย เช่น การการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ชะลอจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ, ยืดเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล, ให้การตรวจรักษาฟรีกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19, แจกหน้ากากอนามัย, ออกสินเชื่อสำหรับบุคคลและผู้ประกอบการ, ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับโควิด-19 ทุกประเภทสำหรับผู้ประกอบการ

โดยในตอนท้าย นายลวรณ กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันโดยให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้าและเหมาะสม และจะออกมาตรการเยียวยาให้เหมาะสมทันท่วงทีรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


ยอดผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยาร่วม 15 ล้านคน จ่ายแล้ว 13.9 ล้านคน

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า หลังจากปิดรับเรื่องร้องทุกข์ขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่กรมประชาสัมพันธ์แล้ว มีประชาชนมายื่นร้องเรียนทั้งหมดเกือบ 30,000 คน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการแยกกลุ่มปัญหาและดำเนินการแก้ไขไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยทำควบคู่กันไป 

ธนกร
  • ธนกร วังบุญคงชนะ เลขาฯ รมว.คลัง

นอกจากนั้น กระทรวงคลังได้เปิดให้มีการร้องทุกข์ต่อที่ธนาคารของรัฐคือ ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศในวันเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 18 -29 พ.ค. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังเดือดร้อน แต่ขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มงวดด้วย

นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยานั้น ขณะนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 15 ล้านคน จ่ายเงินไปแล้ว 13.9 ล้านคน และในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะจ่ายเงินให้ครบ 14.5 ล้านคน ชาวบ้านทั่วประเทศฝากขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่าน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐมา เพราะส่วนใหญ่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว สามารถช่วยประทังความเดือดร้อนในภาวะโควิด-19 ไปได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนได้ลงไปรับเรื่องร้องทุกข์ชาวบ้านเกือบทุกวัน เข้าใจหัวอกคนที่เดือดร้อนดี ดังนั้นยืนยันว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :