ไม่พบผลการค้นหา
ใครรู้สึกค่าไฟแพงมากองรวมกันตรงนี้! ข้ออ้างเรื่องพลังงานขึ้นราคาจากภาวะสงครามอาจจริงเพียงครึ่ง แต่อีกครึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นแผ่นเสียงตกร่องของรัฐ ทำให้มี 'ต้นทุน' ที่ผลักมาประชาชนรายย่อยแบก (ไม่แบกผ่านค่าไฟโดยตรง ก็แบกผ่านภาษีที่รัฐบาลเอาไปอุดหนุนค่าไฟ) และคนได้ประโยชน์เต็มๆ ดูเหมือนเป็นกลุ่มทุนพลังงาน

ผู้ใช้ไฟรายย่อยที่ใช้ไฟราว 300-500 หน่วยมีอยู่ราว 17 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ไม่ว่ารายย่อยรายใหญ่ต่างก็สัมผัสได้ถ้วนหน้าถึงค่าไฟที่แพงขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565  ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

พูดง่ายๆ ว่าถ้าเคยใช้ไฟ 332 หน่วย จากที่เคยจ่าย 1,418 บาท ก็จะต้องจ่าย 1,645 บาท หรือเพิ่มขึ้น 227 บาท

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น สรุปได้ดังนี้

1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เชื้อเพลิงทุกชนิดขึ้นราคาและมีความผันผวนสูง

2.ปริมาณก๊าซอ่าวไทยลดลง จากกรณีพิพาทแหล่งก๊าซ ‘เอราวัณ’ ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเดิมว่าใครต้องเป็นผู้รื้อถอนโครงการ ขณะนี้อยูในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ  

3. การผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของไทย ใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 6072% เมื่อหาก๊าซแหล่งในประเทศได้น้อย ก็ต้องหาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากภายนอกมาผลิตไฟฟ้า แต่ราคา Spot LNG ที่ไทยซื้อก็สูงและผันผวน โดยเฉลี่ยแพงกว่าราคาที่ขุดเจาะได้เองในอ่าวไทย 4-7 เท่า

4 ค่าเอฟทีพุ่งขึ้นหลังจบช่วงโควิดที่รัฐบาลพยายามอุดหนุนค่าไฟมาเป็นระยะ

ในปี 2565 ค่าเอฟทีเพิ่ม 3 ขั้นแล้ว จากเดือนมกราคม หน่วยละ 1.39 สตางค์ เดือนพฤษภาคม 24.77 สตางค์ เดือนกันยายน หน่วยละ 93.43 สตางค์ เรียกว่าเกือบ 1 บาทต่อ 1 หน่วยไฟฟ้าที่เราใช้

ทั้งหมดนี้อยู่ที่การบริหารจัดการในการวางแผน วางนโยบายของภาครัฐ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคยืนยันว่า มีช่องโหว่ในการจัดการหลายจุด ที่เอื้อต่อนายทุนพลังงาน แล้วเฉลี่ยต้นทุนนั้นแก่ประชาชนรายย่อย ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง หากินลำบาก

ค่าเอฟที

ค่า Ft เรียกอย่างเป็นทางการว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Float Time) พูดภาษาชาวบ้านร้านตลาดก็คือ ค่าจิปาถะต่างๆ ที่รวมไว้ต่างหากอีกก้อนหนึ่งในบิลค่าไฟ นอกเหนือจากค่าไฟฐานและค่าบริหาร โดยรัฐจะคำนวณความเปลี่ยนแปลงกันทุก 4 เดือน ต้นทุนในค่าเอฟทีก็เช่น

  • ค่าเชื้อเพลิงต่างๆ ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.
  • ค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP)
  • ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่รัฐต้องอุดหนุน
  • ค่านำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่น
  • ค่าส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ  

เรียกว่ามีนโยบายส่งเสริมพลังงานอะไรก็มา ‘หารเฉลี่ย’ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจ่ายด้วยกันทั้งประเทศ

ข้อที่สำคัญที่สุด อยู่ที่ IPP เพราะมีสัดส่วนที่เยอะมาก และเป็นเงื่อนไขด้วยว่าโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ผลิตได้เท่าไร ต้องรับซื้อทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ใช้ไฟนั้นหรือไม่ หรือที่เรียกกันว่า ระบบ take or pay ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย

มีตัวเลข 2 ชุดที่ต้องทำความเข้าใจนั่นคือ

1. ปัจจุบันเราผลิตและซื้อไฟมาไว้ ‘สำรอง’ เยอะมาก การศึกษาทั่วโลกพบว่า ตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับการสำรองพลังงานเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อการพัฒนาก็คือ 15% แต่ตอนนี้ไทยสำรองไว้ 50% ขึ้นไป

2.การสำรองจำนวนมากนี้ สัมพันธ์กับเรื่อง take or pay ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เมื่อเราซื้อไฟจากเพื่อนบ้าน ซื้อก๊าซธรรมชาติจากเพื่อนบ้าน หรือซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ในไทยเอง รัฐต้องจ่ายทั้งหมด แล้วเอามาเฉลี่ยอยู่ในค่าเอฟที

ข้อมูล จาก กฟผ. ระบุว่า สัดส่วนของกำลังผลิตในระบบไฟฟ้าทั้งหมด 48,571 เมกกะวัตต์ พบว่า

  • 33.19% ซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP)
  • 12.84% ซื้อไฟจากต่างประเทศ
  • 34.84% ไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)
  • 19.13% ซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP)

นอกจากสัดส่วนซื้อไฟจาก IPP จะสูงมากแล้ว ในส่วนของ SPP ก็มาแรงน่าจับตา เพราะ กฟผ.ยังถูกกำหนดจากรัฐให้ต้องไปซื้อไฟฟ้าจาก SPP ซึ่งมีราคาแพงกว่า เพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม อิฐบูรณ์พบว่า IPP เกินครึ่งก็จัดตั้ง SPP เสียเอง ผลลัพธ์จึงทำให้ Ft ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยแพงขึ้นนั่นเอง

ค่าไฟแพง

ประเทศต้องการไฟฟ้าเท่าไร จะหาจากไหนบ้าง ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2010 ซึ่งทบทวนล่าสุดกันในปี 2562 แผนนี้จะพยากรณ์กัน 15-20 ปีล่วงหน้า ตัวเลขหลักที่จะเอามาใช้กำหนดปริมาณความต้องการไฟฟ้า ก็คือ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP

ปัญหาก็คือ ตัวเลข GDP ในแผนไฟฟ้าพยากรณ์กันเติบโตสูงขึ้นๆ เกินกว่าสถานการณ์จริงไปมาก

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า เราเตือนมาตลอดว่า GDP ตามที่สภาพัฒฯเขียนไว้ไม่ยืดหยุ่น และทำให้ติดกับดักของความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินไป เพราะเอาตัวเลข GDP ที่คาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นมากำหนดความต้องการใช้ไฟ ซึ่งการคาดการณ์ GDP มีปัจจัยความต้องการทางการเมืองด้วย สิ่งนี้อันตราย ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเกิดขึ้นในปลายทาง

อิฐบูรณ์ วิเคราะห์ว่า

1. GDP ที่คาดหวังเป็นตัวเลขก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซียยูเครน แต่เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามโมเดลแบบนั้น การลงทุน EEC  ไม่ได้เป็นไปตามคาด

2. เทคโนโลยีของโลกปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบดิจิตอลเข้ามาแทนที่ค่อนข้างเยอะ

3. เรื่องของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น การเปิดโอกาสเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างนิคมอุตสาหกรรม สามารถผลิตไฟฟ้าและขายกันเองได้ เรียกว่า ระบบ Pier-to-Pier หรือเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เอง ทั้งหมดนี้ทำให้ยอดการขายไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลง ตัวเลขที่หายไปอยู่ที่ราว 10,000 เมกะวัตต์

“ต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงแบบนี้ แต่ทุกคนยังเดินหน้าใช้ตัวเลข GDP ตามสูตรแบบเดิม โดยไม่ใช้ปัจจัยอื่นมาเป็นตัวหารด้วย แล้วนำไปสู่สิ่งที่เจตนาหรือไม่ก็ตาม นั่นคือ การดีลสัญญาหรือการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“แล้วรัฐหรือตัวคณะกรรมการนโยบายพลังงานไฟฟ้ายังไปอนุมัติให้ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งราคาแพงมากอีก เกือบ 4 บาทต่อหน่วย เช่น ไฟจากเขื่อนปากแบงหรือไซยะบุรี ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงไฟฟ้าจากเขื่อนราคาอยู่ไม่เกิน 2 บาทต่อหน่วย จึงมีคำถามว่าทำไมไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ราคาถึงกระโดดขึ้นมาเกือบ 2 เท่าตัวได้”

“ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศเรา ณ ขณะนี้จึงอยู่ที่เกือบ 5 บาทต่อหน่วย มันเป็นผลที่ต้องเกิดขึ้น เพราะคุณวางร่องอย่างนี้มาแล้ว”

ค่าไฟแพง

เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค ยังอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง GDP โต - แผนไฟฟ้าบาน ด้วยว่า แผนไฟฟ้าเน้นความห่วงกังวลในเรื่องการลงทุนเชิงมหภาคมากเกินไป เพราะการใช้การลงทุนเชิงมหภาคเป็นตัวเลข GDP สำหรับประเทอื่นคือการลงทุนเพื่อผลิตสินค้า แต่ว่าตอนนี้การลงทุนของประเทศเราที่ทำให้เกิดรายได้เชิงมหภาค กลายเป็นตัวเลขของการผลิตไฟฟ้า ผลิตพลังงาน และไม่ใช่การผลิตพลังงานส่งขายออกไปนอกประเทศเพื่อดึงเงินกลับมาเข้าสู่ประเทศด้วย แต่เป็นการผลิตพลังงานออกมาเพื่อขายคนในประเทศ กลายเป็นว่าธุรกิจพลังงานที่เป็นตัวนำของตลาดหุ้น แทนที่จะเป็นการลงทุนเพื่อดูดเงินจากต่างประเทศ เงินในประเทศที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นการดูดเงินของคนในประเทศตัวเอง เพียงแค่ว่าจะดึงตัวเลข GDP ในภาพรวมให้ออกมาว่า เกิดมวลรายได้จำนวนมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

“ผมคิดว่าการออกแบบแบบนี้ไม่ใช่แล้ว มันเป็นการออกแบบและปฏิบัติเพื่อทำให้ประชาชนระดับจุลภาคจำนวนมากแย่ลง ถามว่ารูปธรรมคืออะไร ล่าสุด หาเงินมา 3,000 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายชดเชยค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น ในขณะที่ด้านตรงข้ามผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหรือธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไตรมาสที่ 2 ผลประกอบการดีขึ้น ตลาดหุ้นคึกคัก ภาพสองภาพนี้ขัดแย้งกันเองอยู่ในขณะนี้” อิฐบูรณ์กล่าว

อิฐบูรณ์ยังกล่าวถึงแผน PDP ที่บิดเบี้ยวว่า  ในหลักการ สิ่งที่ต้องนำมาก่อนพิจารณาก่อนคือ แผนจัดหาพลังงานเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า แต่ทั้ง 2 อย่างมีระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยาวนาน ทำไปทำมาแผนพลังงานกลับเรียกร้องให้ต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อมารองรับเป็นตลาดของมัน เรียกว่า ‘กลับหัวกลับหาง’ การจะหาก๊าซธรรมชาติก็เริ่มไม่มีในบริบทแบบเดิม แบบเดิมคือ หาของที่ถูกที่สุด เหมือนระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ทำกันโดยทั่วไป ต้องหาอะไรที่เป็นต้นทุนต่ำที่สุด แต่ในขณะนี้กลายเป็นว่าใช้ราคาอิงตลาดโลกไปหมดแล้ว ในขณะที่คนจัดหาก๊าซก็เป็นคนของรัฐเอง แม้ว่ารัฐจะมีหุ้นอยู่แค่ 51% ก็ตาม บริษัทลูกที่เป็นคนจัดหาจากนอกประเทศก็เป็นบริษัทลูกเช่นกัน ส่งมาให้บริษัทแม่บริษัทแม่ก็ส่งมาขายให้ กฟผ. เป็นทอดๆ

“ภาระต่างๆ ที่คุณไม่ยอมรับเชิงประสิทธิภาพของการบริหาร เลยถูกผลักมาอยู่ปลายทางที่สุดคือ ค่าเอฟที ที่เกิดขึ้น เราพยายามจะบอกว่า เมื่อรัฐไม่ยอมบริหารจัดการที่ต้นน้ำเลย ปลายน้ำยังไงมันก็รับเละ เพราะว่ามันมีโครงสร้างเอฟทีไว้รออยู่แล้ว”

ค่าไฟแพง

เรื่องก๊าซราคาแพงก็ดูมีความซับซ้อนไม่ใช่น้อย อิฐบูรณ์อธิบายว่า ปกติเรามีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งราคาต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากพม่าก็ดี หรือการซื้อจากภายนอกก็ดี แต่ปัจจุบันมีปัญหาช่วงการเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทานในแหล่งเอราวัณ

“จริงๆ ตรงนี้มันสามารถออกแบบได้ หรือมีการชดเชยเยียวยาได้ แต่ปัญหาต้นน้ำตรงนี้กลับไม่มีการพูดถึง ทุกอย่างผลักภาระให้ผู้บริโภคก็คือให้บริษัทจัดหาก๊าซซึ่งรัฐบาลถือหุ้นอยู่ 51% ไปหาก๊าซ LNG จากนอกประเทศ มาส่งให้บริษัทแม่ แล้วบริษัทแม่ก็มาส่งให้กับ กฟผ. อีกทีนึง แต่บางทีก๊าซขาดด้วยซ้ำไปเพราะเอา LNG จากสต็อคของตัวเองเอาไปขายเล่นราคาที่ประเทศญี่ปุ่น ก๊าซ LNG เลยไม่พอ แล้วให้ กฟผ. Support ซึ่งราคาแพงกว่า LNG ที่ทำสัญญาระยะยาวที่ตัวเองทำกับ กฟผ.ไว้ นี่เป็นต้นทางที่มุ่งหวังแต่กำไรอย่างเดียว และไม่มีการพูดถึง ประชาชนต้องไปหาข่าวเองว่าเขาเอาก๊าซในสต็อคที่มาจากสัญญาระยะยาวไปขาย Spot LNG ที่ประเทศญี่ปุ่น จนออกเป็นข่าวว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก LNG ไปแล้ว พอก๊าซไม่พอก็ผลักให้ กฟผ.ก็ต้องซื้อจาก Spot เอาเอง ต้องนั่งส่องเรือว่าเหลือจากไหนบ้าง”

ทั้งนี้ ระบบ spot คือ ระบบแบบตลาดจรที่ซื้อขายกันเป็นลำเรือ  สามารถส่งให้ได้ในทันทีในราคาซื้อขาย ณ ปัจจุบัน

“คุณจะแบ่งเบาไหม LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาว มันมีราคาถูกมากกว่า LNG สปอต ทำไมไปกว้านหา LNG สปอต หรือจะชะลอการชำระหนี้ให้ยาวขึ้นได้หรือไม่ นึกออกไหมว่าถ้า กฟผ.เป็นหนี้ ปกติถ้าเราเป็นหนี้แล้วยังไม่มีเงิน ก็ต้องชะลอ ขอยืดระยะเวลาใช้หนี้ต้องคุยรายละเอียด เรื่องดอกเบี้ยอะไรต่างๆ แต่ตอนนี้คือผลักมาที่ผู้บริโภคเลย อันนี้ถือว่ายังไม่เต็มที่นะ แต่ก็นักหนามาก”

อิฐบูรณ์สรุปว่า ราคาที่แพงนี้แพง 2 เด้ง เด้งที่ 1 ก็คือ LNG ราคาเพิ่มขึ้น เด้งที่ 2 ก็คือ แพงเพราะสัญญาจากตัวผู้ขายเอง คำถามคือเราตัดออกสักเด้งหนึ่งได้ไหม ที่ผ่านมา มันไม่มีความพยายามตัดเลย สุดท้ายมันก็ผลักมาอยู่ในค่า Ft ทั้งหมด รัฐบาลในฐานะของผู้กำกับดูแล ไม่ทำอะไรกับต้นน้ำคือแผนพลังงาน กลางน้ำคือการจัดหาเชื้อเพลิง และกลายเป็นว่าปล่อยลอยตัวราคานำเข้า LNG ไปอีก

ค่าไฟแพง

ถามว่าดุลของ กฟผ.หายไปไหน? อิฐบูรณ์ระบุว่า อำนาจในการผลิตไฟฟ้าหรือสัดส่วนการตลาดของ กฟผ. ขณะนี้มีอยู่เพียงแค่ 30% เท่านั้น

“พูดง่ายๆ ว่าปัจจุบันดุลในการคัดคานถ่วงดุลมันเปลี่ยนไป ทั้งในเชิงต้นทุนการผลิตก็ดี ในเชิงราคาก็ดี แต่เดิม กฟผ.อาจมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 50 – 60% แต่ก่อนคือ 100 เลยก่อนที่จะแก้กฎหมายให้เอกชนสามารถมาร่วมผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ.ได้ เพื่อวางแนวในเรื่องของการเปิดตลาดเสรี กิจการไฟฟ้าในประเทศ ปี 2534 คุณอนันท์ ปันยารชุน เป็นคนเปิดตรงนี้ ให้ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนได้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องไปกู้เงิน world bank มาลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าเอง หลังจากนั้นเอกชนก็ได้ช่องนี้”

“กฟผ.ไม่ได้ถูกแปรรูปทางกฎหมายก็จริง แต่เป็นการแปรรูปการผลิตไฟฟ้าผ่านทางพฤตินัย ก็คือเปิดช่องกฎหมายภายในของ กฟผ.ให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนได้ ในขณะที่ กกพ.ก็อนุมัติให้โรงไฟฟ้าเอกชน เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งที่อยู่ในประเทศ แล้วก็นำเข้าในรูปของเขื่อน มีสัดส่วนอยู่ที่ 70% กฟผ.เหลือ 30% ดังนั้นจะเห็นว่าสภาพของอำนาจตลาด กฟผ.เสียไปแล้ว ดุลราคาหรือดังราคาให้มันต่ำลงมา มันเหลือน้อยเต็มที”

อิฐบูรณ์ยังอธิบายช่องโหว่ระบบกำกับดูแลด้านพลังงานด้วยว่า ในภาพใหญ่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นหน่วยรองรับความชอบธรรมทางด้านกฎหมาย แต่ผู้ที่ชงแผนต่างๆ มาจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ของกระทรวงพลังงาน ส่วนผู้กำกับดูแล หรือ regulator คือ คณะกรรมการกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดูภาพเหมือนใหญ่โตมาก แต่ก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงพลังงาน แล้วทำหน้าที่เพียงแค่ในส่วนของ ‘ปลายน้ำ’ ก็คือดูแลเรื่องของราคาเพื่อคำนวนมาเป็นต้นทุนค่าไฟของเราเท่านั้นเอง

“องค์กรที่เรียกว่าเป็นองค์กรถ่วงดุลมันไม่มี หลักการของ regulator มันต้องแยกออกจากฝ่ายบริหาร แล้วฝ่ายนโยบายมันต้องถูกแยกมาเหมือนกัน เป็นเหมือนถ่วงดุล 3 ด้าน แต่ตอนนี้ทั้งนโยบาย ฝ่ายบริหารหรือ operator ก็อยู่ที่เดียวกัน ส่วน กกพ.ก็อยู่ภายใต้ operator ถ้าเปรียบเทียบกับ กสทช.แม้ขี้ริ้วขี้เหร่ก็ยังพอดูได้อยู่ เพราะมันถูกแยกออกมา ส่วนนโยบายของรัฐก็ว่าไปตามกระทรวงดิจิตัลฯ”  

“สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยทำหนังสือชี้แนะเรื่องต่างๆ ไปหลายครั้ง แต่กระทรวงพลังงานไม่มีการตอบกลับเลย เรื่องธรรมาภิบาลจึงมีปัญหามาก รูปธรรมล่าสุด การแถลงข่าวเรื่องค่า Ft ที่มีการนัดหมายนักข่าวว่าจะอธิบายรายละเอียด นักข่าวก็เตรียมจะไปรับฟัง ซักไซ้ไล่เรียงคำถามต่างๆ เพื่อให้มันได้ข้อเท็จจริงสิ้นกระแสสงสัย แต่สุดท้ายแล้วทาง กกพ.เขาเลือกโพสต์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก และขณะนี้ระเบียบของ กกพ. ใช้หลักการที่ว่า ถือว่าแปะไว้ที่หน้าเว็บแล้ว เอ็งจะอ่านหรือไม่อ่านก็เรื่องของเอ็ง”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก มันส่งผลไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านทั่วไป แต่ส่งผลในระดับผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย โดยเฉพาะในแง่ของแรงจูงใจในการลงทุน เพราะค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศสูงขนาดนี้ เราพบข้อมูลว่าค่าไฟฟ้าของประเทศไทย สูงกว่าพม่า สูงกว่าเวียดนาม สูงกว่าอินโดนีเซีย ที่เป็นคู่แข่ง ที่จะเชิญชวนจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ของต่างชาติมาลงทุน แต่ค่าไฟของเรามันส่อสัญญาณว่าจะไปเทียบราคาค่าไฟของสิงคโปร์ที่ตอนนี้ 6-8 บาทแล้ว เราจะเทียบชั้นเขาในขณะที่ค่าครองชีพของเราคนละชั้นกันเลย”

อิฐบูรณ์บอกว่า ค่า Ft ตอนนี้ยังเป็นตัวเลขยังกดไว้อยู่ และใน 2566 ผู้บริโภคน่าจะได้เจอหนักกว่าปีนี้