คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีรองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน แถลงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้ทั้งคนจนและคนรวยต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่คนจนจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย จึงเสนอให้รัฐบาลยืดหยุ่นกฎระเบียบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับความลำบาก เช่น การปรับหลักเกณฑ์การต่อทะเบียนโรงแรมและรีสอร์ทเพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการ ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ แถลงสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้คืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ครัวเรือน และประเภทที่ 2 การประกอบกิจการขนาดเล็ก จำนวนรวม 21.5 ล้านราย วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เคยเชิญตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมาให้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกมา ซึ่งเมื่อวานนี้ทางคณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าสัตหีบ ที่จ่ายกระแสไฟให้กองทัพเรือสัตหีบและพื้นที่ใกล้เคียง
ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานพร้อมคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าได้ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนสามารถกรอกใบคำขอและรับเงินคืนทางออนไลน์ได้ หรือหากพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ทัน สามารถไปรับเงินคืนที่การไฟฟ้าใกล้บ้านได้ ส่วนประชาชนที่จะขอมิเตอร์ใช้ไฟฟ้าใหม่ จากนี้ไปก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าอีกแล้ว นายคำนูณ ยังตั้งข้อสังเกตถึงดอกเบี้ยจากค่าประกันการใช้ไฟฟ้า โดยจะคืนให้ประชาชนทุก 5 ปี ในรอบบิลเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีส่วนหนึ่งได้รับเงินดอกเบี้ยไปแล้ว แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรีออกมาให้คืนเงินประกันทั้งก้อน จะทำให้เหลือดอกเบี้ยตกค้างของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2563 อยู่ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมจะต้องคืนดอกเบี้ยส่วนนี้ใน 5 ปีถัดไป ทางคณะกรรมาธิการจึงมีข้อเสนอแนะถึงตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 หน่วยงาน ว่าจะสามารถคืนดอกเบี้ยให้เร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เสนอแนะแนวทางเยียวยาธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเสนอให้ปรับลดเงินหลักประกันผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดไว้ทั้งหมด 4 ประเภท 1. การประกอบธุรกิจนําเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกัน 10,000 บาท 2. การประกอบธุรกิจนําเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกัน 50,000 บาท 3. การประกอบธุรกิจนําเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกัน 100,000 บาท และ 4. การประกอบธุรกิจนําเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกัน 200,000 บาท ซึ่งรวมแล้วมีเงินเก็บในส่วนนี้เกินกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ใช้จริงไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อปี "จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลพิจารณาให้กรมการท่องเที่ยวปรับแก้กฎกระทรวงเพื่อเก็บอัตราค่าประกันลดลง จะได้มีเงินเหลือเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ส่วนจะปรับลดจำนวนเท่าใดหรือปรับลดถาวรหรือไม่ คณะกรรมการธุรกิจการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ สามารถพิจารณาก่อนได้"