ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช. งัดคำตัดสินค้างเก่า 'ชัยวัฒน์' คดีก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมิชอบ ชี้ผิดวินัยร้ายแรง และส่งอัยการสูงสุดฟันผิดอาญา

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยสื่อมวลชน กรณี ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ออกมาระบุว่า มีการยื่นเรื่องถึง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. อยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งอาจอยู่ระหว่างขั้นตอนธุรการตามขั้นตอนตามลำดับ หากมีข้อมูลมาถึงก็จะมีการตรวจสอบแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในส่วนของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นั้น พบว่า ทาง ป.ป.ช. เคยได้รับเรื่องกล่าวหา ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กับพวก กรณีจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับไว้พิจารณา

และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีมติว่า การกระทำของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ถูกกล่าวหาที่มีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยการกีดกันมีให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงส่งเรื่องถึงผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมพวก ในฐานความผิดดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอีก และสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย สำหรับความผิดทางอาญาได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลดังกล่าวด้วย

“ในคดีที่ทาง ป.ป.ช.ได้มีมติไปดังกล่าวไปแล้ว ทั้งเรื่องผิดวินัยร้ายแรง คงต้องไปสอบถามว่าทางผู้บังคับบัญชา ตลอดจนอัยการสูงสุดในส่วนของคดีอาญา ต่อไป” คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุ