ไม่พบผลการค้นหา
ซาโตโกะ คิชิโมโตะ ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเขตซูกินามิเมื่อเดือนที่แล้ว และกลายมาเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเขตนี้ในประวัติศาสตร์รอบ 90 ปี โดยเธอได้ให้คำมั่นว่าตนจะท้าทายการเมืองชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น

คิชิโมโตะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียงสองคน ที่ได้เป็นผู้นำในเขตเทศบาลของกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น โดยผู้สมัครหัวก้าวหน้าอย่างเธอสามารถเอาชนะผู้ดำรงตำแหน่งอนุรักษ์นิยมเพียง 187 คะแนนเสียง แม้เธอจะเพิ่งกลับมาญี่ปุ่นหลังจากใช้ชีวิตในเบลเยียมมากว่า 10 ปี 

ในการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกของเธอนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง คิชิโมโตะกล่าวว่าเธอได้ตัดสินใจที่จะลงสมัครรับตำแหน่งเพื่อ “ส่งเสริมประชาธิปไตย” ในประเทศที่มีจำนวนผู้นำหญิงเป็นตัวแทนทางการเมืองในระดับต่ำ และเพื่อเอาชนะใจตัวเอง อีกทั้งส่งเสริมเรื่องสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม

“มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” คิชิโมโตะกล่าว “เมื่อฉันเห็นซูกินามิและสิ่งที่คนในท้องถิ่นต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการบริการสาธารณะ การดูแลเด็ก และการวางผังเมือง ฉันคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าฉันสามารถทำบางสิ่งบางอย่างนั้นกับพวกเขาและเพื่อพวกเขาได้”

คิชิโมโตะซึ่งเดินทางออกจากญี่ปุ่นเมื่ออายุ 25 ปี เพื่อย้ายไปอาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะไปอยู่อาศัยที่เมืองลูเวนในเบลเยียมพร้อมกับสามีและลูกสองคนในเวลาต่อมา ได้ตั้งเป้าที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเมืองโตเกียว โดยเธอเริ่มภารกิจของตนในเขตซูกินามิ ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรราว 570,000 คน โดยเธออธิบายว่าซูกินามิเป็นเสมือนญี่ปุ่นขนาดย่อ

“การเมืองญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยชายชรา” คิชิโมโตะกล่าวในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศญี่ปุ่น โดยเธออ้างอิงจากข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า อายุเฉลี่ยของนายกเทศมนตรีของ 23 เขตในกรุงโตเกียวมีอยู่ที่ 67 ปี โดยกว่า 40% มีอายุราว 70 ปี และเปรียบเทียบทั้งประเทศที่มีผู้นำหญิงเพียงแค่ 2% จากเทศบาลมากกว่า 1,700 แห่ง

ในเขตของเธอเอง หน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดของเขต 10 หน่วยงานไม่มีผู้หญิงเลย และตำแหน่งทางการเมืองต่ำกว่าตำแหน่งนายกเทศมนตรีก็มีแต่ผู้ชาย เมื่อกล่าวถึงผู้หญิงญี่ปุ่นที่มีจำนวนน้อยในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในโลกธุรกิจ เธอกล่าวว่า “ซูกินามิถือเป็นแบบอย่างขององค์กรญี่ปุ่นโดยทั่วไป”

คิชิโมโตะเคยพูดเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ผู้หญิงญี่ปุ่นได้ลงสมัครในการรณรงค์หาเสียงเพื่อแย่งชิงการครอบงำทางการเมืองจากชายชราทั้งหลาย โดยการได้ที่นั่งบนวุฒิสภาในการเลือกตั้งเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นเดือนนี้ โดยมีผู้สมัครหญิงชนะการแข่งขัน 35 ที่นั่งจาก 125 ที่นั่ง ส่งผลให้มีการเพิ่มตัวแทนหญิงในรัฐสภาเป็น 26% หรือประมาณหนึ่งในสามของผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งเป็นผู้หญิง นับเป็นสัดส่วนสูงสุดนับตั้งแต่ผู้หญิงญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้ง และลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภาเมื่อปี 2489

แต่เมื่อพูดถึงผู้หญิงกับงานการเมือง ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกอย่างญี่ปุ่น ประเทศแห่งนี้กลับมีสถานะของผู้หญิงที่ต่ำกว่าชาติอื่น ตามข้อมูลของสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 163 จาก 190 ประเทศ ในจำนวน ส.ส.หญิงในสภาล่างมีแค่ 9.9% เมื่อเทียบกับนิวซีแลนด์ที่มีเกือบ 50% และสหราชอาณาจักร 34.7% อีกทั้งในดัชนีช่องว่างทางเพศของ World Economic Forum ปี 2564 ยังได้จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 147 จาก 156 ประเทศ 

“สิ่งแรกที่ฉันต้องทำคือ ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานในเมืองสะดวกสบายต่อผู้หญิง” คิชิโมโตะกล่าว “แต่ในความเป็นจริงคือมันก็ต้องใช้เวลา ฉันต้องการเห็นผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น แต่มันยังมีระบบโครงสร้างลำดับชั้นที่เคร่งครัด และผู้หญิงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถก้าวขึ้นมาได้”

เธอเสริมอีกว่า ชัยชนะที่ “น่าประหลาดใจ” ของเธอได้รับแรงผลักดันจากทั้ง “ผู้หญิงและผู้ชายที่มีเหตุผล” ก่อนกล่าวเสริมว่า “ทุกอย่างคือความท้าทาย ฉันไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ใดๆ รวมถึงสหภาพแรงงานด้วย แต่ฉันได้รับการสนับสนุนรายบุคคล ในการชนะการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้”


ที่มา: 

https://www.theguardian.com/world/2022/jul/21/tokyo-wards-first-female-mayor-vows-to-take-on-japans-male-dominated-politics