ไม่พบผลการค้นหา
เมินกระแสเงินเฟ้อ 7% วุฒิสภาตั้งงบฯ ถลุง 7 ล้าน แจกคิว ส.ว. ดูงานต่างประเทศปี66 พบปี65 ดอดดูงานอาเซียน ‘เพื่อนประยุทธ์’ อวยเวียดนาม GDP พุ่ง-ส่งออกโต- FDI บาน

ภายหลังรัฐบาลประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นสถานการณ์ทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศเพื่อนำไปสู่การกระตุ้นการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ก็มีการจัดตั้งงบประมาณสำหรับดูงานต่างประเทศทันที สวนกระแสเงินเฟ้อข้าวยากหมากแพงภายในประเทศ กว่าร้อยละ 7 ข้าวยากหมากแพงทั่วหัวระแหง ซึ่งยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเป็นระบบจากรัฐบาล 

เว็บไซต์วุฒิสภา เผยแพร่สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เห็นชอบแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในส่วนคณะกรรมาธิการ 26 คณะ วงเงิน 149 ล้านบาท 

โดยมีงบประมาณสำหรับเดินทางไปประชุมทวิภาคี และไปเยือนต่างประเทศ 7,043,700 บาท (เมื่อหารเฉลี่ย 250 ส.ว. จะตกคนละ 28,000 บาท) พร้อมข้อแนะนำต้องได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อย 3 เข็ม ทั้งนี้ ยังไม่พบรายละเอียดการเดินทางไปดูงานต่างประเทศในปีงบฯ 2566 แต่อย่างใด 

จากนั้น ‘วอยซ์’ ค้นหา ระเบียบ/หนังสือ กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง พ.ร.ฎ.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พบข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการดูงานต่างประเทศ ดังนี้ 

ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางแบ่งตามระดับที่กำหนด 2 ราคา วันละ 2,100 บาท กับ วันละ 3,100 บาท 

ค่าเครื่องแต่งตัว แบ่งตามระดับที่กำหนด 2 ราคา เหมาจ่าย 7,500 บาท และเหมาจ่าย 9,000 บาท 

ค่าที่พักแบ่งเป็น 4 ประเภท ตามค่าครองชีพ และระดับตำแหน่ง ดังนี้ 

1. ระดับซี 8 ลงมา - ประเภท ก. วันละไม่เกิน 7,500 บาทประเภท ข. วันละไม่เกิน 5,500 บาท ประเภท ค. วันละไม่เกิน 3,100 บาท ประเภท ก. วันละไม่เกิน 7,500 บาท และประเภท ง. เพิ่มขึ้นจากประเภท ก. อีกไม่เกิน 40%  

 2. ระดับซี 9 ขึ้นไป - ประเภท ก. วันละไม่เกิน 10,000 บาทประเภท ข. วันละไม่เกิน 7,000 บาท ประเภท ค. วันละไม่เกิน 4,500 บาท และประเภท ง. เพิ่มขึ้นจากประเภท ก. อีกไม่เกิน 40% 

เมื่อย้อนดูมติวิปวุฒิสภา ครั้งที่ผ่าน ๆ มา การดูงานต่างประเทศของ ส.ว. ไม่ใช่เพิ่งเริ่มตั้งงบประมาณขึ้นสำหรับปีงบประมาณ 2566 แต่พบว่า มีการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ตั้งแต่งบประมาณ 2565 ที่โควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาด โดยอ้างอิงตามมติวิปวุฒิสภา ครั้งที่ 19/2565 เมื่อวันที่4 ส.ค. 2565  เห็นชอบแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รายการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประชุม ทวิภาคีและไปเยือนต่างประเทศของคณะกรรมาธกิาร โดยให้สามารถเดินทางในช่วงปิดสมัยการประชุมได้ 

สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ

มติวิปวุฒิสภา ครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 มีข้อกำหนดแนวทางการไปดูงาน คือ จะต้องได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางจากการต่างประเทศ หรือมีหนังสือจากสถานทูตไทยแจ้งให้ทราบว่า ประสานงานไปยังหน่วยงานของรัฐบาล หรือองค์กรต่างประเทศ ซึ่งก็น่าตั้งข้องสังเกตว่าหน่วยงานจากต่างประเทศเป็นผู้เชิญ หรือ กระทรวงการต่างประเทศประสานงานให้เกิดการเชิญไปดูงานต่างประเทศขึ้น 

เมื่อลองสืบค้นคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ การดูงาน และส.ว. ประเทศไทย ก็พบว่า เว็บไซต์ vietnamnews รายงานการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 หรือ "บิ๊กจู๋" เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปดูงานกรุงฮานอย เวียดนาม วันที่ 29 ก.ย. 2565  ก่อนตัดปีงบประมาณวันที่ 30 ก.ย. เพียง 1 วัน ส่วน ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ไปดูงานโฮจิมินห์ เวียดนาม วันที่ 20 ก.ย. 2565 ช่วงปลายปีงบประมาณเช่นกัน 

สื่อเวียดนาม รายงานว่า พล.อ.สิงห์ศึก ติดตามการปราบทุจริตของรัฐบาลเวียดนามผ่านสื่อไทย ทั้งยังประทับอัตราการเจริญเติบโต GDP การส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ของเวียดนามอย่างยิ่ง โดยหวังสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

สิงห์ศึก -1909-4B53-B4A1-B3B9B8543D29.jpeg

‘วอยซ์’ จึงชวนจับตาดูการไปดูงานเวียดนามของกลุ่ม ส.ว. ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และสภาวะเงินเฟ้อที่ประชาชนไทยในฐานะผู้เสียภาษีให้ ส.ว. ไปดูงานต่างประเทศ ต้องเผชิญสูงถึงร้อยละ 7 จะมีประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้งบประมาณ หัวละ 28,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ส่วนตนจะคุ้มค่ากับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้หรือไม่

อ้างอิง