ไม่พบผลการค้นหา
สาวงามฟิลิปปินส์ คว้ามงกุฎและตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส คนที่ 67 ไปครอง ด้าน นิ้ง - โศภิดา ทำเต็มที่ เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย

แคทรีโอนา เกรย์ ผู้เข้าประกวดจากประเทศฟิลิปปินส์ อายุ 24 ปี อดีต Top 5 มิสเวิลด์ 2016 ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 โดย แทมาริน กรีน ผู้เข้าประกวดจากประเทศเซาท์แอฟริการับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 และเอสเตฟานิ กูติเอร์เรช ผู้เข้าประกวดจากประเทศเวเนซูเอลา รับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 

ซึ่งการประกวดจะประกาศรายชื่อที่เข้ารอบจากสาวงามที่เข้าประกวดทั้งหมด 94 คน เป็นรอบ 20 คน, รอบ 10 คน, รอบ 5 คน, และ 3 คนสุดท้าย โดยทั้ง 3 คนต้องตอบคำถามเดียวกันในรอบสุดท้าย คือ “บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้ในชีวิตคืออะไรและนำมาปรับใช้กับการเป็นมิสยูนิเวิร์สได้อย่างไร”  

S__3072246.jpg

สามสาวงามรอบสุดท้าย

ฟิลิปปินส์: “ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เต็มไปด้วยความยากจน ความเศร้า ฉันจะสอนตัวเองว่า ให้พยายามมองหาความสวยงาม ความงามที่อยู่ในสายตาของเด็กๆ แล้วจะนำมุมมองเหล่านี้ในฐานะมิสยูนิเวิร์ส มองหาสิ่งดีๆ ที่ทำอย่างไรที่จะสามารถช่วย ทำอย่างไรที่จะสามารถให้ ในฐานะคนที่พูดออกมาได้ และก็อยากจะสอนให้คนรู้จักความกตัญญู ซึ่งจะทำให้เรามีโลกที่สวยงาม ที่ทัศนคติในแง่ลบจะไม่สามารถมาบั่นทอนความสวยงามนี้ได้ และเด็กทุกคนก็จะได้มีรอยยิ้ม”  

เซาท์แอฟริกา: “ตลอดช่วงชีวิตนี้ฉันได้เจอคนที่ได้รับโอกาสมากมาย เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราทุกคนควรจะได้รับความรักและได้รับการยอบรับ เพราะฉะนั้นเราควรจะปฏิบัติกับคนอื่นเช่นเดียวกัน”  

เวเนซูเอลา: “นี่คือบทเรียนสำคัญในชีวิตของฉัน ฉันเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นผู้หญิง พวกท่านสอนสิ่งสำคัญในชีวิตให้กับฉันหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันจำได้ขึ้นใจเลยคือ เราต้องทำงานหนักให้ได้มากที่สุด ด้วยความกล้าและความมั่นใจจะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้ และคืนนี้ก็ทำให้ฉันได้มาอยู่ที่นี่”  

ก่อนหน้านี้เป็นการประกาศผู้ที่เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย และตอบคำถาม ได้แก่ เกียรา โอร์เตกา จากเปอร์โตริโก และเห่อแฮน เนีย จากเวียดนาม 

คำถาม: มีผู้สื่อข่าวหลายร้อยคนต้องถูกจำคุกเพราะวิจารณ์รัฐบาล ทำไมเสรีภาพของสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

เปอร์โตริโก: สื่อมีหน้าที่รายงานความเป็นไปทั่วโลก ฉันเชื่อว่าสื่อควรจะต้องมีเสรีภาพว่าเพื่อรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกใบนี้ โดยที่ต้องไม่ลืมว่าจะต้องเห็นใจคนอื่นๆ เพราะมีคนที่ประสบปัญหาเช่นกัน  

คำถาม: การเคลื่อนไหว #MeToo คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้ไปไกลเกินไปหรือไม่  

เวียดนาม: ฉันไม่ได้คิดว่าไปไกล เพราะการปกป้องสิทธิของผู้หญิงคือสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ผู้หญิงต้องการการคุ้มครองและปกป้อง  

คำถาม: แคนนาดาเพิ่งจะประกาศให้กัญชาถูกกฎหมายตามอุรุกวัยเป็นประเทศที่สอง คุณมีความคิดเห็นอย่างไร 

ฟิลิปปินส์: ฉันคิดว่าทุกอย่างดีทั้งหมด แต่ต้องอยู่ในทางสายกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไป ในสายการแพทย์สามารถนำมาใช้และเป็นประโยชน์ได้  

คำถาม: หลายประเทศทั่วโลกประสบปํญหาการเพิ่มประชากร คุณควรมีการจำกัดผู้ลี้ภัยหรือไม่ 

เซาท์แอฟริกา: ฉันคิดว่าแต่ละประเทศก็มีกฎและสังคมของตัวเอง แต่ทุกคนเป็นมนุษย์ เราควรจะเปิดโอกาสและมอบความรักและการยอมรับ ไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม และฉันให้ความสำคัญของคุณค่าการเป็นมนุษย์  

คำถาม: เมื่อมีคนพูดว่าการประกวดนางงามเป็นเรื่องที่เชยและโบราณ อยากบอกอะไร 

เวเนซูเอลา: ทุกวันนี้เรามีอยู่ในยุคที่มีความก้าวหน้ามากๆ การประกวดไม่ใช่เรื่องของความงามแต่เป็นเรื่องของหัวใจ และพื้นที่ทำให้ฝันผู้หญิงเป็นความจริง และทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้  

รอบ 10 คนสุดท้าย ทุกคนต้องพูดถึง ‘แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต’ ภายในเวลา 15 วินาที ซึ่งผู้เข้ารอบอีก 5 คน ได้แก่ สาวงามจากทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ คอสตาริก้า, กือราเซา, เนปาล, แคนาดา, และไทย ร่วมเดินอวดโฉมในชุดว่ายน้ำจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI และชุดราตรี ส่วนผู้เข้ารอบ 20 คน มาจากการคัดเลือก 4 ทวีป ทวีปละ 5 คน ได้แก่ แอฟริกาและเอเชียแปซิฟิก คือ เซาท์แอฟริกา, ฟิลิปปินส์, เนปาล, เวียดนาม, และไทย ทวีปยุโรป คือ โปแลนด์, เบลเยียม, สหราชอาณาจักร, ฮังการี, และไอร์แลนด์ ทวีปอเมริกา กัวราเซา, คอสตาริกา, แคนาดา, เปอร์โตริโก, และจาไมกา ส่วนโควต้าผู้เข้ารอบจาก Wildcards ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, เวเนซูเอลา, อินโดนีเซีย, บราซิล, และออสเตรเลีย 

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมได้แก่ อรอนงค์ หอมสมบัติ ผู้เข้าประกวดจากประเทศ สปป.ลาว ในชุด 'Stream of Generosity’ ที่ออกแบบโดย ‘คำภีร์ อลังการ’ ซึ่งเป็นคนไทย ขณะเดียวกันบนเวทีการประกวดมีการเผยแพร่ภาพวีดิโอผู้เข้าประกวดจากประเทศเสปน ‘อังเคลา ปอนเซ’ ผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส และเธอได้เดินออกมาทักทายแฟนนางงาม โดยเนื้อหาตอนหนึ่งในคลิปวีดิโอที่เปิดบนเวทีการประกวดมีเนื้อหาว่า เธอไม่ต้องการเป็นผู้ชนะจากการประกวดแต่เธอต้องมายืนยู่บนเวทีนี้ เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์

CDS_1706.JPG

เพื่อนนางงามร่วมแสดงความยินดี

ด้าน แคทริโอนา เปิดเผยว่า เธอรู้สึกขอบคุณทุกคนมากๆ เหตุการณ์นี้มันเหมือนเพิ่งเกิดขึ้น และไม่ค่อยรู้สึกว่าได้รับตำแหน่งนี้เลย แต่หลังจากนี้อาจจะรู้สึกถึงความเป็นมิสยูนิเวิร์สมากขึ้น ตอนที่ได้พบกับครอบครัว พร้อมทั้งขอบคุณทุกประสบการณ์ที่ได้รับจากการประกวดที่ประเทศไทย ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย

โดยสิ่งแรกที่คิดว่าจะทำหลังได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2018 ก็คือจะไปพบกับครอบครัว เพื่อนๆ และทีมของเธอ รวมถึงยังบอกว่าอยากกินมะม่วงดิบ และชาเย็น ซึ่งเป็นของโปรดของเธอ ขณะที่โครงการที่เธออยากสานต่อหลังได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส คือเรื่องการศึกษา และเรื่องเอชไอวี ที่ก่อนหน้านี้เธอได้ทำโครงการนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนเริ่มประกวดมิสยูนิเวิร์ส เพราะหลายปีที่ผ่านมาเธอได้สูญเสียเพื่อนสนิทเพราะเอชไอวี เธออยากให้ทุกคนได้ตระหนักในเรื่องของเอชไอวี ส่วนเรื่องการศึกษา เธออยากจะช่วยเหลือเด็กในชุมชนที่ห่างไกล เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ

ขณะที่สื่อมวลชนถามถึงเรื่องการตอบคำถามรอบ Top5 บนเวที ของแคทรีโอนา ที่ได้คำถามเกี่ยวกับเรื่องการประกาศให้กัญชาใช้อย่างถูกกฎหมาย เธอเผยว่าเรื่องการใช้กัญชาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในฟิลิปปินส์อย่างมาก เธอมองว่าหากมีการนำกัญชามาใช้ควรจะมีการทำวิจัยเพิ่มเติม และมีกฎที่ชัดเจน

นอกจากนี้เธอยังเผยถึงกุญแจแห่งความสำเร็จ นั่นก็คือเรื่องเตรียมตัว หากคุณเตรียมตัวและมีความมุ่งมันมากพอก็จะประสบความสำเร็จได้ พร้อมทั้งยังเผยเคล็ดลับเรื่องการหมุน (Slow turn) ในชุดว่ายน้ำที่เป็นกระแสไปทั่วโลกโซเชียล เธอบอกว่ามีหลายคนมาถามเธอว่าทำแบบนั้นได้อย่างไร เธอบอกว่าก็แค่หมุนให้ช้าๆ แค่นั้นเอง และสำหรับการประกวดครั้งนี้เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความกดดันของตัวเอง เพราะในฐานะผู้เข้าประกวดจากประเทศฟิลิปปินส์ก็มีแรงกดดันจากแฟนๆ โซเชียล หากไม่รู้จักควบคุมอารมณ์หรือความกดดันต่างๆ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง พร้อมถึงต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราอยู่ที่นี่เพื่ออะไร และมีความสุขไปกับมัน