ไม่พบผลการค้นหา
6 หน่วยงานร่วมแก้เหลื่อมล้ำ ช่วยรร.ห่างไกล ขาดแคลนครู กสศ.เปิดรับสถาบันอุดมศึกษาร่วมโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น แก้ปัญหาครูโยกย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่ครูท้องถิ่น ชี้ภายใน 10 ปี ผลิตครูรร.ขนาดเล็กเพียงพอต่อความต้องการ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ “ครูรัก(ษ์) ถิ่น” เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ การพัฒนาข้อเสนอโครงการให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นหน่วยผลิตครู โดยมีผู้บริหาร และอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์ เข้าร่วมกว่า 36 แห่งจากทั่วประเทศ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างกสศ.และ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครูได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตน ทั้งนี้เมื่อศึกษาจนจบตามหลักสูตร จะได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ทั้งหมด

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กสศ.ดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและมติครม.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะมีการลงนามMOU กับหน่วยงานร่วมสร้างโอกาสทั้ง 6 หน่วยงาน ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการ” รศ.ดร.ดารณี กล่าว  

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์) ถิ่นจะสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน เฉลี่ยทุนละ 160,000 บาท/ทุน/ปี ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพรายวัน ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป โดยโครงการนี้จะดำเนินงานผ่านสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการราว 10 สถาบัน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยสถาบันที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการตลอดเดือนสิงหาคมนี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หมายเลขโทรศัพท์ 099-121 5665 ในวันและเวลาราชการ

​นพ.สุภกร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของคณะวิจัยธนาคารโลก ร่วมกับการสอบทานฐานข้อมูล สพฐ. พบว่าประเทศไทยมีโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่อาจจะควบรวมเช่น โรงเรียนบนพื้นที่สูง ตามแนวชายขอบ หรือตั้งอยู่บนเกาะแก่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ (Protected School หรือ Standalone) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามพบว่า ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลคือ ครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น และไม่มีครูมาทดแทน ครูจึงไม่พอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนประถมศึกษา ซึ่งโครงการครูรัก(ษ์) ถิ่นมีเป้าหมายใน 4 เรื่องสำคัญคือ 1.สนับสนุนนักเรียนในท้องถิ่นที่มีผลการเรียนดีและรักเป็นครูได้เรียนครูจนจบและกลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองได้  2.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล โดยมีการฝึกสอนร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนและชุมชนที่จะต้องไปทำงานจริงตั้งแต่เป็นนักศึกษา 3.มีการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและสังคมแก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน 4.ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะสำคัญเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนรักถิ่นฐานบ้านเกิด ร่วมแก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น

“การเดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์) ถิ่น จะส่งผลให้ภายในระยะเวลา 10 ปี จะมีครูเพียงพอต่อความต้องการได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แก้ปัญหาครูประจำการโยกย้ายบ่อยในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย”นพ.สุภกร กล่าว

​ด้าน ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์) ถิ่น กล่าวว่า โครงการนี้ ให้ความสำคัญกับคุณภาพการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาที่จะเป็นกลไกในการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ สถาบันสามารถนำเสนอโครงการตามประเด็นหลักที่กำหนดไว้ 7 ประเด็น ดังนี้ 1. ความพร้อมและความน่าเชื่อถือของสถาบัน ด้านหลักสูตร ความเชี่ยวชาญของบุคลากรผู้สอนที่ตรงตามสาขา นักวิจัย แหล่งเรียนรู้สำหรับฝึกประสบการณ์ทางวิชาชีพ การทำงานร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น 2.การค้นหาและคัดเลือกนักเรียนผู้รับทุน ต้องเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส มีศักยภาพในด้านผลการเรียนพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มเดียวกัน 3. การเตรียมความพร้อมแก่นักเรียนก่อนเข้าศึกษา พิจารณาจากแผนกิจกรรมในช่วงแรกที่จะทำงาน

4.หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียน ทั้งสมรรถนะพื้นฐานของวิชาชีพครู สมรรถนะทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเจตคติและสมรรถนะเฉพาะ 5.การจัดระบบดูแลนักศึกษา แนวทางการดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิภาพและสุขภาพแก่ผู้รับทุน 6.กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ (Enrichment program) แนวทางหรือวิธีการเพิ่มคุณภาพให้แก่ผู้รับทุน และ7. การจัดทำข้อมูลและการเข้าร่วมพัฒนาทางวิชาการ โดยการคัดเลือกสถาบันจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและจะประกาศรายชื่อภายในเดือนสิงหาคม 2562

​“ครูรัก(ษ์) ถิ่น ต่อยอดบทเรียนที่สำคัญของโครงการคุรุทายาท ใน 2 เรื่องสำคัญคือ 1.รับประกันการมีงานทำ เมื่อจบตามหลักสูตรแล้วได้บรรจุเป็นข้าราชการครู และ 2.การที่สถาบันอุดมศึกษาจะมีกระบวนการบ่มเพาะความเป็นครูของชุมชนเข้าไปในหัวใจของนักศึกษาทุนตลอดเส้นทางการศึกษา การออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหรือ Enrichment Program ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ผู้เรียนมีใจ มีเป้าหมายพร้อมที่จะเป็นครูรัก(ษ์) ถิ่น ไม่ทิ้งชุมชนอย่างแน่นอน” ดร.ศุภโชค กล่าว 

S__14295322.jpg