ไม่พบผลการค้นหา
ในอดีตประเทศไทยรู้จักยากระตุ้นประสาทที่ชื่อ ‘ยาม้า’ ‘ยาขยัน’ ว่าเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงานเพื่อช่วยให้สู้ทนงานหนัก  ถัดมาในปี 2539 ยาตัวนี้ถูกเปลี่ยนคำเรียกขานเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในทางลบในชื่อ ‘ยาบ้า’ โดย เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น

ในอดีตประเทศไทยรู้จักยากระตุ้นประสาทที่ชื่อ ‘ยาม้า’ ‘ยาขยัน’ ว่าเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงานเพื่อช่วยให้สู้ทนงานหนัก  ถัดมาในปี 2539 ยาตัวนี้ถูกเปลี่ยนคำเรียกขานเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในทางลบในชื่อ ‘ยาบ้า’ โดย เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น

ยาบ้า มีส่วนผสมหลักคือ แอมเฟตามีน (Amphetamine) และเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine - เป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน) ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางด้วยการกระตุ้นประสาท ก่อนที่ยาชนิดดนี้จะถูกมองว่า ‘บ้าคลั่งสมชื่อ’ ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นยามหัศจรรยที่มอบความสุข อึด ถึก ทน และพลังเหนือมนุษย์ให้แก่ประชาชนและทหารในสงครามโลก แพร่หลายในวงการแพทย์ ถูกโปรโมทสรรพคุณสารพัด แถมเคยเป็นยาที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เรียกว่าใช้กันเกลื่อนราวพาราเซตามอลเลยก็ว่าได้ 

ภายใต้ความรังเกียจหวาดกลัวพิษภัยยาบ้าในปัจจุบัน ‘วอยซ์’​ ชวนอ่านกำเนิดยาบ้า ประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 ที่มีการใช้ยาบ้าอย่างแพร่หลายผ่านการโปรโมทสรรพคุณทางการแพทย์​ เรื่อยมาจนถึงยุทธการทางทหารในสงครามครั้งที่ 2 และการใช้เพื่อสันทนาการ จนเข้าสู่ยุคแห่งการหวาดกลัวต้องกำราบให้สิ้นซาก

กำเนิด ‘ยามหัศจรรย์’ 

ในปี 1887 ลาซาร์ เอเดลีอานู (Lazăr Edeleanu) นักเคมีชาวโรมาเนีย แห่งมหาลัยเบอร์ลิน เยอรมนี  ได้สังเคราะห์สารชนิดหนึ่งชื่อว่า ฟีนิลไอโซโพรพิลามีน (Phenylisopropylamine) ซึ่งเป็นยารักษาโรคคัดจมูก โรค narcolepsy โรคสมาธิสั้น ( ADHD ) และโรคอ้วน และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘แอมเฟตามีน’ ในเวลาต่อมา โดยในเวลานั้น เอเดลีอานู ไม่ได้สงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสารนี้มากนัก เขาจึงหยุดการทดลองเพื่อมุ่งความสนใจไปที่การค้นพบอื่นๆ เช่น กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบสมัยใหม่ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมาก 

ต่อมาในปี 1893 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุนชื่อ นางาอิ นางาโยชิ  (Nagayoshi Nagai) สังเคราะห์ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) จาก เอฟิดรีน (ephedrine) ได้ โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1887 เขาสกัดแยกเอฟิดรีน ได้จากพืชมาฮวง 

ต่อมาในปี 1919 นักเคมีชาวญี่ปุ่นชื่อ อากิระ โอกาตะ (Akira Ogata) สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ ‘เมทแอมเฟตามีน’ (Methamphetamine Hydrochloride) โดยใช้ ephedrine เป็นสารตั้งต้นและใช้ฟอสฟอรัสแดงกับไอโอดีนในการสังเคราะห์ เพื่อผลิตแอมเฟตามีนที่สามารถละลายในน้ำได้ ที่ต่อมานิยมนำมาผลิต ‘ยาบ้า’ ในไทย กล่าวได้ว่า การสังเคราะห์เมทแอมเฟตามีนของโอกาตะ ได้เข้ามาแทนที่วิธีการสังเคราะห์ก่อนหน้านี้ที่ซับซ้อนกว่ามาก และยังคงถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตและการใช้ยาสมัยใหม่โดยเฉพาะวิธีการที่นิยมในการผลิตยาผิดกฎหมายในปัจจุบัน 

Nagai Nagayashi ในประเทศญี่ปุ่น. ในปี พ.ศ. 2436

(Nagai Nagayashi ในประเทศญี่ปุ่น. ในปี พ.ศ. 2436)


‘ยาบ้า’  ในฐานะแบรนด์ทางการค้า 

ในปี 1932 มีการจดสิทธิบัตร แอมเฟตามีน ซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) และ แอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Amphetamine Hydrochloride) โดย Gordon Alles นักเภสัชวิทยาชาวอเมริกัน และได้มีการนำแอมเฟตามีนไปผลิตเป็นยาออกวางตลาดครั้งแรกในชื่อว่า Benzedrine โดยบริษัท Smith, Kline & French โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการคัดจมูก โดยมีรูปแบบเป็นยาน้ำพ่นและยาดม สามารถซื้อได้โดย ‘ไม่ต้องมีใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์’

Gordon Alles

(Gordon Alles)

กล่าวได้ว่า Benzedrine เป็นชื่อแบรนด์แรกของยาบ้า ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และถูกขนามนามว่ายามหัศจรรย์ที่ช่วยบรรเทาได้หลายโรค เป็นครั้งแรกที่ฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทของเอเฟตามีนถูกยอมรับในทางการแพทย์ และถูกใช้ในการรักษาโรคอย่าง narcolepsy (นอนมากผิดปกติ) อย่างได้ผล แถม Benzedrine ยังถูกโปรโมทและปรากฏตัวอยู่ในสื่อต่างๆ ตั้งแต่นวนิยายเรื่อง The Bell Jar ของ Sylvia Plath เพลง What's The Frequency, Kenneth? ของวง R.E.M. ไปจนถึงละครโทรทัศน์เรื่อง The Man In the High Castle

ประวัติศาสตร์ยาบ้าความรุ่งเรืองของ Benzedrine กินเวลาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930 - 1960 และประสบความสำเร็จทางการค้าจากการโฆษณาและบริบททางสังคม ณ ขณะนั้น อาทิ 

  • ยาช่วยในการเรียนสำหรับนักศึกษาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930
  • ช่วยให้ทหารอเมริกันตื่นตัว มีความมั่นใจ และมีสมาธิในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ยาลดความอ้วนและอารมณ์สำหรับแม่บ้านในทศวรรษ 1950 - 1960
  • แรงบันดาลใจและพลังให้กับศิลปินในยุคบีทนิก (Beatnik)  ในทศวรรษ 1960
ประวัติศาสตร์ยาบ้าประวัติศาสตร์ยาบ้า

ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960 ความอันตรายของ Benzedrine เริ่มได้รับความสนใจ เมื่อผู้ใช้ยาต้องเผชิญกับผลข้างเคียงนานัปการ ประกอบกับแพทย์ในสมัยนั้นเริ่มเห็นว่า ผู้ใช้ยาเริ่มมีอาการ ‘ติดยา’ และเริ่มมีผู้เสียชีวิตหลายรายจากการใช้ยาเพื่อลดความอ้วน 

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการลดการใช้ Benzedrine คือพระราชบัญญัติสารควบคุมปี 1971 กฎหมายนี้ทำให้ Benzedrine กลายเป็นสารควบคุม โดยกำหนดให้แพทย์และเภสัชกรเก็บบันทึกโดยละเอียด รัฐบาลยังสามารถลดปริมาณ Benzedrine ที่ผลิตได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยา Benzedrine ยากมากขึ้น กล่าวได้ว่า Benzedrine เป็นแอมเฟตามีนชนิดแรกที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ 

ขอเท้าความย้อนกลับไปในปี 1937 แอมเฟตามีนยังได้รับการอนุญาตโดย American Medical Association ให้ขายในรูปแบบยาเม็ด เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยมีใบสั่งแพทย์สำหรับรักษา narcolepsy และโรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคซึมเศร้าอย่างไม่รุนแรง กลุ่มอาการพาร์กินสันหลังเป็นโรคสมองอักเสบ (post-encephalitic Parkinsonism) และความผิดปกติอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เริ่มมีทำการตลาดยาเดกโตรแอมเฟตามีน (Dextroamphetamine) ซึ่งออกฤทธิ์มากกว่า ภายใต้ชื่อทางการค้าว่าเดกซ์ซีดรีน (Dexedrine) 

ต่อมาในปี 1940 เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ก็ถูกวางขายในขายภายใต้ชื่อ  Methedrine โดยบริษัท Burroughs Wellcome ทำให้ในเวลาต่อมา ทั้งเมทแอมเฟตามีนและ เดกโตรแอมเฟตามีน กลายเป็นของที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป 


‘ยาเหนือมนุษย์’ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ถือเป็นช่วงเวลาที่แอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ถูกใช้อย่างมหาศาลในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี เพื่อให้เหล่าทหารกระปี้กระเปร่า ไม่อ่อนเพลียและสู้รบได้ทนทานขึ้น โดยจากหลักฐานพบว่า ญี่ปุ่นและเยอรมนีมักใช้เมทแอมเฟตามีน ส่วนสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร นิยมใช้ ‘เดกโตรแอมเฟตามีน’ และ ‘แอมเฟตามีน’ 

ประวัติศาสตร์ยาบ้าประวัติศาสตร์ยาบ้าประวัติศาสตร์ยาบ้า

สำหรับกองทหารของนาซี ‘ยาบ้า’ ถือเป็นอาวุธสำคัญในยุทธการทหาร โดยสารเสพติดที่แพร่หลายในเยอรมนี มีชื่อเรียกว่า เพอร์วิติน (Pervitin) ถูกพัฒนาโดย Fritz Hauschild ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศเยอรมนีปี 1937 ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท Temmler 

ในช่วงเวลาที่ Temmler เริ่มจำหน่ายเพอร์วิตินและต้องการแข่งขันกับสินค้าของ Coca-Cola จึงได้มอบหมายให้ Mathes & Son ซึ่งเป็นเอเจนซี่โฆษณาเป็นผู้วางกลยุทธ์ทางการตลาด การโฆษณานี้ส่งผลให้เพอร์วิตินประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางรวดเร็ว ในบริบทของสังคมที่กำลังฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1 วิกฤตเศรษฐกิจ และการระดมพลเพื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชากรในประเทศต่างนิยมชมชอบเพอร์วิตินที่เป็นสารให้พลังงาน ราคาถูก ช่วยให้ผู้คนทำงานต่อเนื่องได้ถึง 36-50 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแต่อย่างใด และยังสามารถซื้อได้ตามร้ายขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์​

Is-This-Not-His-Fate-Amphetamine-History-The-Vintagent-Hitler-Salt-1024x576.jpeg

Otto Ranke ผู้อำนวยการสถาบันสรีรวิทยาทั่วไปและการป้องกันที่สถาบันการแพทย์ทหารในกรุงเบอร์ลิน ได้นำเพอร์วิตินไปทดลองกับนักศึกษาจำนวน 90 คน พบว่า ผลลัพธ์ของการใช้ยาช่วยให้เหล่านักศึกษาตื่นตัวและทำข้อสอบได้ดีจนกลายเป็นที่ร่ำลือ ทำให้ต่อมา ยาตัวนี้ถูกนำมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทหารเยอรมัน โดยแพทย์ทหารถึงขั้นแนะนำให้บริโภคมากถึงวันละ 2 ครั้ง โดยยานี้จะทำให้ทหารมีความสามารถเหนือธรรมชาติ อดหลับอดนอนได้มากกว่า 3 วัน และเดินได้ไกลถึง 60 กิโลเมตรโดยไม่หยุดพัก ต่อมา สิ่งนี้ทำให้มีการสั่งผลิตยาเพอร์วิตินและไอโซฟานมากกว่า 35 ล้านเม็ด และส่งไปยังแนวหน้าสงคราม นำไปสู่การรุกรานโปแลนด์อย่างรวดเร็วในปี 1939, การรุกสายฟ้าแลบระหว่างยุทธการแห่งฝรั่งเศส (Blitzkrieg) ในปี 1940 และสงครามบอลข่านในปี 1941  โดยทหารต่อสู้แบบไม่ได้หยุดพักเป็นเวลาถึง 11 วัน 

ประวัติศาสตร์ยาบ้า


จากยาวิเศษ สู่ ‘ยาอันตราย’

ช่วงทศวรรษ 1950 มีการใช้ยาลดความอ้วนที่มีเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีน  ในชื่อการค้า Obetrol โดยในตลาดมืดจะเรียกเมทแอมเฟตามีนว่า Pep pills หรือ Bennies โดยเป็นที่นิยมของผู้ขับขี่รถบรรทุกทางไกล  โดยในช่วงเวลานั้น (1950-1960)  กระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุน  ได้สั่งห้ามผลิตสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องจากมีการระบาดของแอมเฟตามีนจำนวนมาก โดยประมาณการว่า มีผู้ใช้ยามากกว่า 2 ล้านคน ในขณะที่ประชากรขณะนั้นคือ 88.5 ล้านคน เมื่อรัฐบาลสั่งควบคุม ทำให้มีการผลิตยาขายในตลาดมืดจำนวนมากโดยกลุ่มยากูซ่า โดยเรียกยานี้ว่า Shabu และ Speed 

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศควบคุมยากระตุ้นที่ได้มาจากการสังเคราะห์ทุกชนิดให้เป็น ‘ยาอันตราย’ ตามพระราชบัญญัติการ ขายยา โดยประกาศนี้ใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1955

ส่วนในสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษ ที่ 1960 มีการใช้เมทแอมเฟตามีนพุ่งสูง พบห้องทดลองเถื่อนสำหรับผลิตยาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการผลิตเอมเฟตามีนในตลาดมืดอย่างผิดกฎหมายเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งถอดยาฉีดเอมเฟตามีนออกจากท้องตลาด 

ด้านสหราชอาณาจักรก็เผชิญสถานการณ์ใกล้เคียงกัน คือมีกลุ่มวัฒธรรมย่อยเกิดขึ้น เรียกว่า Mod โดยกลุ่มนี้จะใช้แอมเฟตามีนเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย โดยจะเรียกผู้ใช้ยากลุ่มนี้ว่า Speed Freak  มีการประมาณว่า ช่วงก่อนปี 1970 ยากลุ่มเอเฟตามีนที่ผลิตขึ้นมาอย่างถูกกฎหมายนั้น ได้ถูกลักลอบนำไปใช้นอกระบบการควบคุมถึงร้อยละ 50 

ด้วยสถานกาณ์ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ 15 กรกฎาคม 1965 Drug Abuse Control Amendment (DACA) สั่งห้ามการครอบครอง หรือผลิต ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates - สมัยก่อนเคยนิยมใช้เป็นยานอนหลับและคลายกังวล), เอมเฟตามีน และยาชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียน ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจากมีฤทธิ์ในการกด กระตุ้นหรือหลอนประสาท เว้นแต่ใช้ในการส่วนตัว ครอบครองในครัวเรือน หรือใช้สำหรับสัตว์ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 1966

4 มีนาคม 1969 ไทยประกาศให้เอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479 มีการระบุให้ผู้เสพมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท และห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า อีกด้วย

27 ตุลาคม 1970 สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายจัดประเภทยา (The Comprehensive Drug Abuse Prevention and Control Act) ดังนี้ 

  • สารที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทเช่น LSD, psilocybin, psilocin, mescaline, peyote, cannabis, & MDA จัดเป็นสารควบคุมประเภทที่ 1 
  • สารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท coca, cocaine and injectable Methamphetamine จัดเป็นสารควบคุมประเภทที่ 2 
  • เอมเฟาตามีนชนิดอื่น และสารกระตุ้นรวมทั้ง เมทแอมเฟตามีนที่ไม่ได้เป็นยาฉีด จัดเป็นสารควบคุมประเภทที่ 3 ปี

ด้านองค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศใช้ the Convention on Psychotropic substances of 1971 ประเทศสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนการจัดประเภท โดยให้แอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนแบบไม่ใช่ยาฉีด ย้ายจากสารควบคุมประเภท 3 เป็นประเภท 2 เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2514 และ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานี้เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514

ส่วนประเทศไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทขึ้นใช้ และได้ออกประกาศฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติฯ ระบุให้ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธุ์ทั้งหมดเป็นวัตถุออก ฤทธิ์ในประเภท 2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2520

ต่อมาในปี 2531 เป็นต้นมา ผู้ผลิตในประเทศไทยสามารถสังเคราะห์แอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนได้เอง โดยมี Ephedrine เป็นสารตั้งต้น และรูปแบบเม็ดยาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศควบคุม Ephedrine และ Pseudoephedrine เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 จนทำให้ปัจจุบันผู้ลักลอบผลิตยาบ้า ไม่สามารถหาสารตั้งต้นได้ และห้องแล็บเถื่อนได้หายไปจากประเทศไทยไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ปี 2539 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ผ่านกฎหมาย the Methamphetamine Control Act เพื่อควบคุมสารเคมีหลักๆ และเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ ครอบครอง จำหน่าย และผลิต และในประเทศไทย แอมเฟตามีนและอนุพันธุ์ ได้ถูกจัดประเภทเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ( ประกาศฉบับที่ 135 พ.ศ. 2539 ) และชื่อเรียก ‘ยาม้า’ ก็ได้เปลี่ยนเป็น ‘ยาบ้า’ นับจากนั้นเป็นต้นมา 



อ้างอิง