วันที่ 19 ก.ย.2565 ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองช่วงชิงพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนในฐานะเป็น ส.ส.ภาคใต้ มองว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีการใช้เงิน ตนมาเป็น ส.ส.ได้ แม้แต่สลึงเดียวก็ไม่เคยใช้ แต่ว่าก็เหนื่อยตลอดชีวิต เพราะต้องรับใช้พี่น้องประชาชนตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีการใช้เงินกัน ยอมรับว่ามีผลกระทบ เพราะเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ไม่ดีนัก ครั้งที่แล้วสมัยเลือกตั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ภาคใต้มีความเปลี่ยนแปลง แต่ครั้งนี้เชื่อว่าก็คงต้องแย่งชิงกันใหม่
ชวน ระบุต่อไปว่า ตอนนี้ทุกพรรคประกาศเเลนด์สไลด์ในพื้นที่ภาคใต้กันทั้งหมด แต่จะเเลนด์สไลด์ทั้งหมดหรือไม่ต้องคอยติดตามดู ซึ่งสิ่งที่ตนจะยังทำอยู่ก็คงจะบอกพี่น้องประชาชนว่า ขอให้รักษาอุดมการณ์เดิม อย่ายอมให้ใครมาซื้อเสียง
“คำขวัญสมัยก่อนนี้ ไม่โกง ไม่กิน ไม่สิ้นชาติ คำขวัญสมัยโน้น หรือแม้กระทั่งบางจังหวัด ก็ใส่เสื้อทวี กินพลี พิทักษ์ เลือกพรรคนายชวน เป็นต้น ผมย้ำเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่ต้องใช้เงินกัน มันจะทำให้นักการเมืองไม่โกง คนลงทุนแล้วไม่เอาเงินก็ยากนะ ถ้านักการเมืองไม่โกง พรรคก็ต้องโกง”
ชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่เห็นกันอยู่ ว่าคนที่ซื้อตำแหน่ง แล้วหาผลประโยชน์นั้นไม่มีอยู่จริง หายาก ดังนั้นประชาชนต้องการหลักว่าหากเราไปยอมรับเงื่อนไขในการให้เงินแล้วไปลงคะแนน คนที่ขาดทุนก็คือประชาชน เชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ต้องการแค่มากินเงินเดือน เดือนละหลักแสนบาท
เมื่อถามว่าได้ให้แนวทางกับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไปบ้างหรือไม่ ชวน ตอบว่า กรรมการก็บริหารไปตามนโยบายของนโยบายของพรรค ซึ่งความเห็นแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ในส่วนของคนที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ตนพยายามบอกว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ เพราะหลายพรรคเป็นพรรคเฉพาะกิจ อาจจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคการเมืองที่มั่นคง
“พรรคประชาธิปัตย์ จะได้กี่คนก็เป็นพรรคการเมืองที่มั่นคง จะมีกี่คนก็เป็นพรรคการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ก็พยายามบอกเพื่อนๆ ที่มีทีท่าว่ามีพรรคการเมืองอื่นมาเกลี้ยกล่อม”
ชวน ยอมรับว่ามี สมาชิกในพรรคหลายคนถูกพรรคการเมืองอื่นมาทาบทาม และมีแนวโน้มที่จะไปสูง ตนจึงกล่าวเตือนว่าคิดให้ดี ส่วนคนที่ออกไปแล้ว เคยชวนกลับมาหรือไม่ ชวน ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ชวน กล่าวถึง กรณีที่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยไม่เก็บดอกเบี้ย และไม่เสียค่าปรับ โดยมองว่าเป็นสิทธิของผู้เสนอ จากนั้นเล่าย้อนว่า กยศ. เริ่มดำเนินการสมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เริ่มจาก 3 พันล้านบาท จนตอนนี้กว่า 6 แสนล้านบาท เยาวชนได้เรียนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาได้มากที่สุด เรื่องนี้เกิดผลดีให้เด็กได้มีการศึกษามากขึ้น
“ช่วงหลังมีปัญหาเพราะมีสถาบันการศึกษาบางแห่ง ยุเด็กไม่ให้คืนเงิน ที่รู้เพราะว่าคนใกล้ชิดมาขอบคุณที่ทำให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบ มีงานทำ และพบความจริงว่าสถาบันการศึกษาแนะนำว่าไม่ให้คืนเงิน เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง”
ชวน เปิดเผยตัวเลขการค้างคืนเงิน กยศ. พบมหาวิทยาลัยเอกชนมีมากกว่ารัฐบาลถึงกว่า 60% เลยมีความจำเป็นต้องรณรงค์ว่า เงินมีความสำคัญก็จริง แต่ไม่เท่ากับความรับผิดชอบ เพราะบ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้ด้วยความรับผิดชอบ ถ้าเรียนสูงแต่โกง เรียนมากแต่เอาเปรียบสังคม บ้านเมืองก็พัฒนาต่อไปยาก
“ส่วนเรื่องดอกเบี้ยถ้าเราคิดแค่เรื่องหาเสียง ก็ไม่ต้องเอาดอกเบี้ย แต่ถ้าคิดเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ต้องมีส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเกิดความรับผิดชอบ ดอกเบี้ยนี้คือส่วนที่จะมาทำให้องค์กรนี้อยู่ได้ ส่วนจะเท่าไหร่นั้นก็แล้วแต่ ย้ำตลอดว่าเงินก็อยากได้คืนทั้งหมด แต่ไม่สำคัญเท่าฝึกให้คนที่ได้ทุนมีความรับผิดชอบ” ชวน กล่าว
ชวน ยังเผยว่า ตนได้ขอให้สถาบันพระปกเกล้าออกระเบียบเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าคนที่กู้เงิน กยศ. แล้วไม่คืน ห้ามรับเข้ามา ซึ่งก็ได้ผล มีบางส่วนก็นำเงินมาคืนแล้ว