ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยกฟ้องคดี 116 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ เดินจากจุดที่ลูกชายถูกยิงเสียชีวิต ไปธรรมศาสตร์ ชี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 805 ศาลอาญารัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดี อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากกรณีโพสต์เฟสบุ๊คประชาสัมพันธ์ และทำกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หรือไม่ โดยศาลพิพากษา ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 

สำหรับต้นเหตุแห่งคดีนี้มีความเชื่อมโยงกับการถูกตั้งข้อหากรณีการทำกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่(รัก)ลัก’ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 ซึ่งในวันนั้น พันธศักดิ์ , อานนท์ นำภา , สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกควบคุมตัวขณะปรากฎตัวทำกิจกรรม และถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งคดีดังกล่าวนี้จะถูกพิจารณาในศาลทหารตามประกาศ คสช. ด้วย


ย้อนไทม์ไลน์มูลคดี

ต้นเรื่องดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้พันธ์ศักดิ์ประกาศทำกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ในวันที่ 14 มี.ค. 2558 โดยระบุว่า ตนเองจะเดินจากบางบัวทอง ไป สน.ปทุมวัน เพราะมีนัดหมายรายงานตัวไปพบพนักงานสอบสวนคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในวันที่ 16 มี.ค. 2558 แต่หลังจากที่พันธ์ศักดิ์ ออกเดินเท้าห่างจากจุดเริ่มต้นประมาณ 5 กิโลเมตร เขาก็ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ตำรวจมาส่งที่ สน.ปทุมวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าว เนื่องจากมาพบไม่ตรงกับวันนัดรายงานตัว

ต่อมาวันที่ 15 มี.ค. 2558 พันธ์ศักดิ์ ได้ทำกิจกรรมนี้อีกครั้ง โดยเดินจาก หมุดเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ บุตรชายซึ่งถูกยิงเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุมปี 2553 ริมถนนราชปรารถ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรณรงค์ถึงความอยุติธรรมที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และระหว่างที่เดินนั้นมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าไปมอบดอกกุหลาบให้กำลังใจ และมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินตามพันศักดิ์ไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีครั้งที่ 2 ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กระทำความผิดตาม ม.116 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) โดยถูกจับกุมกลางดึกระหว่างเดินทางเข้าบ้านพักเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558

คดีนี้ ศาลทหารกรุงเทพฯ เริ่มสอบคำให้การของพันธ์ศักดิ์ ครั้งแรกในวันที่ 5 พ.ย. 2558 โดยครั้งนั้นทนายความของเขา ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ตาม พ.ร.บ.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ศาลจึงสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ต่อมามีการวินิจฉัยว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องมีอำนาจตามคำสั่ง และประกาศของ คสช. 

จากนั้นศาลทหารได้เริ่มต้นสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 ยาวนานมา 2 ปี จนกระทั่ง มีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2562 เรื่องให้โอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร มาเข้าสู่การพิจารณาที่ศาลอาญาแทน คดีนี้กลับมาเริ่มสืบพยานต่อในศาลอาญาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 และจบภายในวันที่ 5 พ.ย. 2563 จากนั้นศาลได้พิพากษายกฟ้องในวันนี้ รวมระยะเวลาในการต่อสู้คดีทั้งสิ้นเกือบ 5 ปี 


ย้อนรอยบรรยากาศสอบพยาน

สำหรับบรรยากาศการสืบพยานที่ศาลทหารในคดี มีบันทึกในฐานข้อมูลคดีเว็บ iLaw ตอนหนึ่งระบุว่า ในวันที่ 13 ก.ค. 2561 มีนัดสืบพยานโจกท์ปากที่ 4 คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์แต่หลังจากเริ่มสืบพยานไม่ถึง 10 นาทีศาลสั่งห้ามผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาจดบันทึก ทั้งที่การพิจารณานัดก่อนๆ ไม่ได้มีการสั่งห้ามเช่นนี้

ขณะเดียวกันแม้ว่าทนายจำเลยขออนุญาตให้เสมียนที่มาด้วยเป็นผู้จดบันทึกก็ตาม ศาลกลับอนุญาตแค่ให้ทนายจดบันทึกเท่านั้น และกระทั่งหลังออกจากห้องพิจารณาก็มีเจ้าหน้าที่ศาลมาถามผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาบางท่านเพื่อทำการยึดสมุดและฉีกหน้ากระดาษที่มีการบันทึกเกี่ยวกับการสืบพยานครั้งนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วง 10 นาทีแรกหลังจากการเริ่มสืบพยานก่อนที่จะมีการสั่งห้ามไม่อนุญาตให้จดบันทึกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามตามฐานข้อมูลคดีของ iLaw มีบันทึกไว้ด้วยว่า พ.อ.บุรินทร์ ได้ตอบคำถามของทนายความด้วยน้ำเสียงที่ดัง และมีน้ำเสียงตะคอกในบางคำถาม จนศาลทหารสั่งพักการพิจารณาคดี 5 นาที เนื่องจากเหตุว่า พยานไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

อ่านเพิ่มเติม