ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดตัวระบบประมวลผลกัญชา-กัญชงอัจฉริยะ รายงานข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชา-กัญชง แบบเรียลไทม์ (Real time) ผ่านเว็บไซต์ http://cannabis.fda.moph.go.th ต่อยอดจากระบบรายงานเดิมที่ อย. ใช้อยู่ พัฒนาเป็นระบบประมวลผลรายงานอัจฉริยะ
โดยนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System (GIS) มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลกัญชา-กัญชงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลพิกัดพื้นที่ปลูกกัญชาหรือกัญชงที่ได้รับอนุญาตแล้วในสถานที่ใกล้เคียง ข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตแต่ละประเภท เพื่อวางแผนการปลูกและจับคู่ทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถประมวลผลจากระบบรายงานการสั่งใช้กัญชา ระบบรายงานประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัยจากการใช้กัญชา และรายงานผลในรูปแบบแดชบอร์ด (Dashboard) ที่สามารถแยกตามจำนวนผู้ป่วย ช่วงเวลา ตำรับที่ใช้ในการรักษา ชนิดและปริมาณยาจากกัญชาที่ใช้ การกระจายยาจากกัญชา ฯลฯ ทั้งในเชิงพื้นที่ จังหวัด เขตสุขภาพ และประเทศ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดหรือกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
เมื่อวันทีี่ 11 ก.พ. 2564 ที่บ้านโศกนาค ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน 'การปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล' มอบต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์หางกระรอกที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมือง จ.สกลนคร แก่ชาวบ้าน ต.หินเหล็กไฟ ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน 7 ครัวเรือนที่ได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชา
อนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ ให้เป็นพืชสมุนไพรนำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก การผลิตอย่างเป็นระบบ นำบางส่วนของกัญชามาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่าย เปิดโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยกำหนดการดำเนินงานที่รัดกุมไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม และแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คนไทย ผู้ป่วย หมอพื้นบ้านใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไข
สำหรับโมเดลการปลูกกัญชา 6 ต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมอบต้นกล้ากัญชาให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น ส่งช่อดอกและเมล็ดให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีแพทย์แผนไทย นำไปผลิตเป็นยาปรุงเฉพาะรายสำหรับจ่ายผู้ป่วยในชุมชน โดยจำนวนการปลูกกัญชาสามารถเพิ่มขึ้นได้ หากมีผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในชุมชนจำนวนมาก ส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่ได้รับการปลดล็อค ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด เช่น ใบ ราก ลำต้น กิ่งก้าน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย เช่น ยาหม่อง สบู่ แชมพู เป็นต้น ขณะนี้ได้ร่วมกับสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อบรมวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชน มีรพ.สต.โนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ เป็นต้นแบบดำเนินการแห่งแรก และจะขยายไปทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ เบื้องต้นมีรพ.สต. 251 แห่งใน 46 จังหวัด เข้าร่วมโครงการ รวม 2,510 ครัวเรือน คิดเป็นการปลูกกัญชาทั้งหมด 15,060 ต้น
“การปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางสุขภาพ และแปรรูปสินค้าจำหน่ายสร้างรายได้ โดยจะต้องรวมเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำร่วมกับหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะกระจายโมเดลนี้ไปทั่วทุกแห่งในประเทศไทย” อนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ อนุทินได้ประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตสุขภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่วิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมนโยบายกัญชาทางการแพทย์และการปลูกกัญชา 6 ต้นระดับครัวเรือน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการปลูกกัญชาเพื่อใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองใน รพ.สต.โนนมาลัย โดยทำงานร่วมกับสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลคูเมือง และ รพ.สต.โนนมาลัย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่ปลอดภัย คาดว่าผลการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ปี 2564 จะส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แผนไทยที่ถูกกฎหมาย มีมาตรฐาน ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ สำหรับการปลูกในครัวเรือนต้องมีรั้วรอบ มีแนวทางการควบคุมไม่ให้เข้าถึงโดยง่ายหรือเล็ดลอด
เลขาธิการฯ กล่าวว่า ระบบประมวลผลกัญชา-กัญชงอัจฉริยะนี้ ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาและกัญชงของกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใสอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :