ไม่พบผลการค้นหา
6 ต.ค.2565 เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่ออดีตตำรวจบุกเข้าไปสังหารเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู รวมทั้งยังสังหารประชาชนระหว่างทางโดยใช้ทั้งอาวุธมีดและปืน จนมีผู้เสียชีวิตรวม 37 ชีวิต
ข้อมูลพื้นฐานผู้ก่อเหตุ :

1.ผู้ก่อเหตุอายุ 34 ปี เป็นตำรวจมา 10 ปี และเพิ่งย้ายมาประจำที่สภ.นาวัง จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อปี 2562 

2.ตำรวจแถลงว่าก่อนย้ายมาหนองบัวลำภู ไม่มีประวัติเรื่องยาเสพติด แต่เมื่อย้ายมาแล้วพฤติกรรมเปลี่ยนไป

3.ปากคำของครูศูนย์เด็กเล็กระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ปกครอง ลูกชายมาเรียนที่ศูนย์แต่ไม่มาประมาณ 1 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยปกติผู้ก่อเหตุเป็นคนสุภาพเรียบร้อย 

4. ตำรวจแถลงด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณตี 4 ผู้ก่อเหตุทะเลาะกับภรรยา ภรรยาโทรไปหาแม่ที่บ้าน เหมือนจะขอให้มารับ ตำรวจเชื่อว่า เกิดความเครียดเกิดจากทะเลาะและภรรยาจะไม่อยู่ด้วย ส่วนลูกไม่มาเรียนหลายอาทิตย์คาดว่าน่าจะป่วย

5.เอกสารของ สภ.นาวังชี้แจงการจับกุมผู้ก่อเหตุในคดียาเสพติดระบุว่า ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมติดยาเสพติดจนซูบผอม ปฏิบัติงานก็ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีเหตุทะเลาะวิวาทกับตำรวจด้วยกันจนได้รับทัณฑ์บน 

6.นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมชอบดื่มสุราสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เมื่อเมาชอบนำอาวุธปืนมายิง ทำให้ไม่มีคนกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว เคยนำอาวุธปืนไปยิงสุนัขของประชาชน 

7.ผู้บังคับบัญชาเคยเรียกสอบถาม เจ้าตัวยอมรับว่าเสพสารเสพติดตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว และรับปากจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้บังคับบัญชาจึงได้ทำการยึดอาวุธปืนประจำกายไว้ 

8.ต่อมาผู้ก่อเหตุถูกจับกุมและให้ออกจากราชการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีคำสั่งยืนยันการไล่ออกจากราชการในเดือนมิถุนายน 2565 

9.คดียาเสพติดนัดขึ้นศาลในวันที่ 7 ต.ค. ผู้ก่อเหตุได้ก่อเหตุก่อนขึ้นศาล 1 วัน 

10.ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธมีด (เป็นส่วนใหญ่) และใช้อาวุธปืน 9 ม.ม.ยิงคนจำนวนหนึ่ง ซึ่ง ผบ.ตร.ระบุว่า เป็นปืนส่วนตัวที่ซื้อถูกต้อง พร้อมมีใบอนุญาตในการใช้ และซื้อในสวัสดิการของตำรวจเพราะถูกกว่าราคาทั่วไป เมื่อถูกไล่ออกก็ถือเป็นของส่วนตัว

11.ตำรวจแถลงผลการชันสูตรศพผู้ก่อเหตุพบว่า ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย แต่จะมีการชันสูตรซ้ำเพื่อความชัดเจน 


ข้อมูลพื้นฐานเหตุการณ์ : 

1.ผู้เสียชีวิต 37 คน เป็นเด็ก 24 คน ผู้ใหญ่ 13 คน 

2.เป็นเพศชาย 27 ราย เพศหญิง 9 ราย อายต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 69 ปี 

3.สถานที่เสียชีวิตแบ่งเป็น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 24 ราย, อบต.อุทัยสวรรค์ 2 ราย, ในหมู่บ้าน 5 ราย, โรงพยาบาล 5 ราย

4.ผู้บาดเจ็บมี 10 คน อาการสาหัสและพักในห้องไอซียู 7 คน อาการคงที่ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 คนมีบาดแผลที่ศีรษะ 

5.เหตุเกิดช่วงพักเที่ยง เมื่อรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ ได้ความว่า เหตุเกิดที่ศูนย์เด็กเล็กในเวลาประมาณ 12.30 น. ตำรวจได้รับแจ้งเหตุประมาณ 13.00 น. ไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางถึงที่เกิดเหตุในเวลาเท่าใด ทั้งนี้ สถานีตำรวจอยู่ห่างจากศูนย์เด็กเล็กประมาณ 15 กม. ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก สภ.เมืองหนองบัวลำภูรายงานเหตุการณ์พร้อมเผยแพร่หมายเลขทะเบียนรถคนร้ายเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในเวลาประมาณ 14.20 น. สื่อมวลชนเริ่มรายงานข่าวดังกล่าวในเวลาประมาณ 14.30 น. และมีการรายงานว่าคนร้ายยิงตนเองและครอบครัวเสียชีวิตในเวลาประมาณ 14.55 น. 

6. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่าคนร้ายขับรถขาไป และขากลับห่างกัน 4 นาที คาดว่าใช้เวลาก่อเหตุเพียง 4 นาทีเท่านั้น โดยการเดินทางขาไปไม่มีการทำร้ายใคร แต่ขากลับได้ยิงประชาชนตามทางด้วย 


ประเด็นที่สังคมถกเถียง

ยาเสพติด

1.คนจำนวนมากวิเคราะห์ว่าปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม จากการแถลงของตำรวจพบว่า ไม่พบสารเสพติดในศพผู้ก่อเหตุ และหากดูในภาพรวมปี 2563-2565 บช.น.ไล่ออกตำรวจที่มีประวัติ หรือต้องโทษคดียาเสพติดรวม 7 ราย  

2.ทางตำรวจระบุว่า มีการตรวจสุขภาพ ตรวจยาเสพติดกำลังพลเป็นประจำทุกปี 

3.อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ ป.ป.ส.พบว่า พื้นที่ภาคอีสานกลายเป็นเส้นทางหลักของการขนยาเสพติดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนเส้นทางจากเดิม เมียนมาสู่ภาคเหนือ อ้อมไปเข้าทาง ส.ป.ป.ลาวแทน และจากสติถิการจับกุมพบว่า ตำรวจภูธรภาค 4 (เขตอีสานบน ซึ่งรวมถึงหนองบัวลำภู) จับกุมได้สูงสุด ซึ่งอาจตีความได้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด 

4.ยาเสพติดที่แพร่ระบาดเป็นอันดับหนึ่งยังคงเป็น เมทแอมเฟตามีน หรือเรียกกันในสังคมว่า ‘ยาม้า’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘ยาบ้า’ ป.ป.ส.ระบุว่าแพร่ระบาดมากถึง 79.2% เทียบกับยาเสพติดอื่นๆ

5.ป.ป.ส.ระบุว่า ปีงบประมาณ 2564 จับกุุมคดียาบ้าทั้งหมด 337,186 คดี ผู้ต้องหา 350,758 คน ของกลางยาบ้า 554.7 ล้านเม็ด

6.ปี 2564 นำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา จำนวน 168,567 ราย หรือคิดเป็น 71.69% จากเป้าหมาย 235,130 ราย

7.ข้อมูลสถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผูิติดยาเสพิดแห่งชาติบรมราชชนนี ระบุว่า ปี 2564 มีผู้ป่วยในทั้งหมด 1,370 คน ในจำนวนนี้มีอาชีพข้าราชการ 42 คน ส่วนผู้ป่วยนอกมีทั้งหมด 4,140 คน ในจำนวนนี้มีอาชีพข้าราชการ 97 คน อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลว่า อาชีพข้าราชการดังกล่าว เป็นตำรวจจำนวนเท่าใด 

8.ประชาชาติธุรกิจระบุว่า งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการป้องกันและปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้แต่ละหน่วยงานตลอด 7 ปี รวมเป็นเงิน 34,943,329,600 บาท แบ่งเป็น

ปี 66 วงเงิน 4,187,543,600 บาท

ปี 65 วงเงิน 4,261,695,400 บาท

ปี 64 วงเงิน 6,129,232,300 บาท

ปี 63 วงเงิน 5,299,591,200 บาท

ปี 62 วงเงิน 5,256,373,100 บาท

ปี 61 วงเงิน 4,909,714,200 บาท

ปี 60 วงเงิน 4,899,179,800 บาท

ทั้งนี้ งบประมาณปี 57-ปี 59 ไม่มีการจัดงบประมาณแบบบูรณาการ

สุขภาพจิตเจ้าหน้าที่ 

1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า มีการตรวจสุขภาพกาย-สุขภาพจิต ข้าราชการตำรวจปีละ 1 ครั้ง

2.รพ.ตำรวจมีแผนกจิตเวช แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า มีตำรวจเข้ารับบริการจำนวนเท่าใด ข้อมูลที่สืบค้นได้ล่าสุดคือปี 2560 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ธ.ค. มีตำรวจเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าจำนวน 605 ราย สาเหตุส่วนมากมาจากปัญหาการทำงาน ทั้งถูกกดดัน งานเยอะ ความเครียด และเรื่องโยกย้าย 

3.นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยระบุว่า จากการวัดระดับความกดดันที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง พบว่า 96% มาจากความเครียด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้ตัวและมีโอกาสหาทางไปรักษา ที่เหลืออีก 4% คือความรุนแรงที่เกิดจากอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นผลมาจากการติดยาเสพติดหรือป่วยภาวะทางจิต คนกลุ่มนี้มักจะไม่รู้ตัวว่าป่วย ต้องอาศัยคนรอบข้างสังเกต พวกเขามักไม่ไปรักษาจนทำให้ก่อเหตุความรุนแรงขึ้น

4.ตำรวจแถลงว่าไม่พบประเด็นอาการเจ็บป่วยทางจิตของผู้ก่อเหตุ แต่มีรายงานที่สามารถปะติดปะต่อได้เบื้องต้นว่า ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ประกอบกับเจ้าตัวเคยยอมรับว่าเคยเสพตั้งแต่สมัยมัธยม พฤติกรรมชอบเมาแล้วใช้ปืน มีลักษณะเก็บตัวไม่สุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน 

5.ความเครียดในอาชีพตำรวจเป็นปัญหาสำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเปิดเผยข้อมูลสถิติสาเหตุตำรวจฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2551 - 2564 พบว่า มีตำรวจเสียชีวิต 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย, ปัญหาอื่นๆ 121 นาย, ปัญหาครอบครัว 98 นาย, ปัญหาส่วนตัว 39 นาย, ปัญหาหนี้สิน 38 นาย, ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย

6.ตำรวจนายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตำรวจที่ฆ่าตัวตายจำนวนมากคือ พนักงานสอบสวน 

7.ปัญหาหนี้สินก็เป็นปัญหาใหญ่ของข้าราชการตำรวจ เนื่องจากเงินเดือนและสวัสดิการยังไม่เพียงพอ ตำรวจรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า บางคนเมื่อหักหนี้สินแล้วเหลือเงินเดือนเพียง 1,000-3,000 บาท ส่วนปัญหาหนี้สินตำรวจในภาพรวมพบว่า ปี 2565 เฉลี่ยตำรวจ 1 คนเป็นหนี้ 1 ล้านบาท ตำรวจที่ไม่มีหนี้มีเพียง 20%

ประเด็นอาวุธปืน

1.สำนักงานสำรวจอาวุธขนาดเล็ก หรือเอสเอเอส ระบุว่า ข้อมูลปี 2560 พบว่า ชาวไทยจำนวนกว่า 10.3 ล้านคน มีอาวุธปืนขนาดเล็กไว้ในครอบครอง หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยปืนขนาดเล็ก 15 กระบอกต่อประชากร 100 คน เป็นอัตราที่สูงที่สุดในอาเซียน

ข้อมูลของสถาบันตรวจวัดและประเมินสุขภาพ หรือไอเอชเอ็มอีของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ถึงแม้ว่าไทยครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในภูมิภาค แต่การใช้อาวุธปืนก่อเหตุฆาตกรรมในไทยมีอัตราสูงมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์

2.ในข้อเท็จจริงร้อยละ 90 ตำรวจจะทำเรื่องขอมีอาวุธปืนส่วนตัว และสามารถซื้อในสวัสดิการของตำรวจเพราะถูกกว่าราคาทั่วไป เมื่อถูกไล่ออกก็ถือเป็นของส่วนตัว

3.พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ระบุว่า แม้จำนวนปืนในระบบที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านกระบอก แต่มีการคาดการณ์ว่า 'ปืนเถื่อน' หรือปืนนอกระบบที่ไม่ถูกกฎหมายยังมีอีกประมาณ 6 ล้านกระบอก

4.สถิติปี 2563 มีการจับกุมคดีปืน 687 ราย ปี 2564 จับกุม 930 ราย ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ทางออกเบื้องต้นที่มีการพูดถึง 

1.พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ระบุว่า 

  • สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศเพิ่มมาตรการดูแลป้องกันเหตุคลุ้มคลั่ง รวมทั้งปัญหายาเสพติดจะต้องกวาดล้างให้หมดทั้งเครือข่ายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน
  • หลังจากนี้จะหารือกันว่าบุคคลที่พ้นสภาพจากการรับราชการตำรวจ จำเป็นต้องยื่นรายชื่อต่อนายทะเบียนเพื่อระงับการครอบครองปืนหรือไม่
  • สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยต้องพิจารณาในการออกใบรับรองความประพฤติให้กับลูกน้องตนเพื่อใช้ในการขออาวุธปืน หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ควรอนุญาตหรือออกใบรับรอง
  • เพิ่มความเข้มในการตรวจสุขภาพร่างกายของข้าราชการตำรวจมากกว่าการตรวจประจำปีแค่ครั้งเดียว ทุกหน่วยภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องมีการสุ่มตรวจคาดการณ์ตำรวจทุกระดับชั้นเกี่ยวกับสารเสพติด

2.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร.ระบุว่า 

  • จะมีการทบทวนกระบวนการไล่ออกสำหรับตำรวจที่มีประวัติเสพยาหรือมีปัญหาสุขภาพจิต ว่า ต้องมีกระบวนการเปลี่ยน mind set ของพวกเขาก่อนผลักเขาไปสู่ธรรมชาติ และเพิ่มมาตรการการเฝ้าระวัง มีกลุ่มบุคคลเฝ้าระวังหลังบำบัดยาเสพติด
  • จะเร่งอบรมบุคลาการครูเกี่ยวกับมาตรการป้องกันตัวเอง 'วิ่ง ซ่อน สู้' สำหรับอาชญากรรมในลักษณะนี้ ซึ่งดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง 

3.กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า จะสั่งการให้เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น เช่น

  • ติดกล้อง CCTV จัดเวรยามคัดกรองบุคคลเข้ามาในสถานที่
  • ปลุกจิตวิญญาณให้คนในหมู่บ้านช่วยกันระวังภัย
  • สนับสนุนการตั้งด่านชุมชนของ ปค. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่
  • ให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอให้ความสำคัญกับกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแท้จริง
  • กำชับให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนด้วย หากพบว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติให้ดำเนินการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นทันที
  • Re X–Ray กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด 

4.กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มความเข้มงวดและกำหนดมาตรการเข้า-ออก สถานศึกษาฯ ของบุคคลภายนอก

นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายในสังคม นำเสนอมาตรการหลายระดับ เช่น 

  • เร่งกวาดล้างยาเสพติด 
  • ให้มีการสื่อสารที่รวดเร็ว ระหว่างศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนต่างๆ กับสถานีตำรวจ เช่น มีปุ่มฉุกเฉินกดแจ้งตำรวจได้ทันทีเหมือนกับธนาคาร  
  • ให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำตามโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก หรืออย่างน้อยให้เวียนตรวจบ่อยครั้งต่อวัน 
  • เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่ถืออาวุธ ควรได้รับการดูแลทั้งสุขภาพภาพจิตและมาตรการทางวินัยควบคู่กัน
  • ใบอนุญาตครอบครองปืน (แบบ ป.4) เป็นใบอนุญาตที่ไม่มีวันหมดอายุ และไม่มีกำหนดการตรวจสอบ ควรมีระบบการประเมินความเหมาะสมในการครอบครองเป็นระยะ ๆ
  • ปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.บ. อาวุธปืน ใหม่ให้สามารถเข้าถึงได้ยากขึ้น
  • รื้อโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ 'ตั๋วช้าง' การโยกย้ายตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม
  • ขจัดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในองค์กรทหาร-ตำรวจ
  • ต้องปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งในเรื่องนี้ประเวศ วะสี นำเสนอในรายละเอียดไว้ เช่น 1.กระจายอำนาจพิทักษ์สันติราษฎร์ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น 2.เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการสูงขึ้น 3.สนับสนุนระบบตำรวจวิชาการ 4.ลดภาระความรับผิดชอบ เช่น ให้ทีมอาสาสมัครความปลอดภัยชุมชนท้องถิ่นทำงานเป็นทีมกับตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น