ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการรวบรวมรายชื่อ 14,654 คนเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติต่อประธานรัฐสภา ย้ำสร้างหลักประกันรายได้ยามสูงวัยแก่ประชาชนคนไทยทุกคน จับตาท่าที 'นายกฯ' เห็นร่วม หรือ เห็นต่าง

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และประชาชนกว่า 60 คน รวมตัวกันยื่นรายชื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า พ.ศ.... จำนวน 14, 654 รายชื่อ ให้แก่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการของประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบ 

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีหลักการสำคัญคือการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับทุกคน เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ คนส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกไม่มั่นคง กังวลใจว่า เมื่อแก่ตัวจะกินอยู่อย่างไร จะเป็นภาระกับลูกหลานหรือไม่ ซึ่งการมีรัฐสวัสดิการ อย่างบำนาญแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ

"การที่ประชาชนเกือบ 15,000 คนร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ สะท้อนว่า มีคนจำนวนมากที่เมื่ออายุครบ 60 ปีแล้ว ยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้อะไรเลย จะมีเพียงเงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินจากลูกหลานเท่านั้น ซึ่งการมีบำนาญแห่งชาติ ถือเป็นการคืนภาษีที่รัฐเก็บไปจากประชาชนในยามที่คนเหล่านี้ยังหนุ่มสาว และได้ทำงานเสียภาษีให้กับประเทศ ดังนั้น เมื่อพวกเขาแก่ตัวลง รัฐจึงต้องจัดหลักประกันด้านรายได้นี้ให้กับพวกเขา" นายนิมิตร์ ให้ความเห็น

พร้อมกับชี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากหลังจากนี้ คือการใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องให้ความเห็นชอบเบื้องต้นต่อร่างกฎหมาย ว่ามองเรื่องนี้เป็นภาระ เป็นเรื่องของการเมือง เป็นประชานิยมแล้วไม่เซ็นเห็นชอบให้กับสภาเพื่อพิจารณาหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น คือการแสดงออกว่า นายกฯ ไม่เชื่ออย่างเดียวกันกับประชาชน ความพยายามทั้งหมดที่คนเกือบ 15,000 คนได้ร่วมกันลงรายมือชื่อมาก็จะสูญเปล่าทันที 

"พวกเราต้องช่วยกันสื่อสารและเฝ้ามองท่าทีนี้ของนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้คือการเริ่มต้นสร้างหลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงวัย และเป็นเครื่องมือลดความยากจนเรื้อรังที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต" นายนิมิตร์ กล่าว 

บำนาญถ้วนหน้าได้ทุกคน อ้างอิงอัตราจ่ายตามเส้นความยากจนในนิยาม สศช.

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเพจ 'บำนาญแห่งชาติ' เผยแพร่สาระสำคัญและตัวร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน ไว้ดังนี้

1) ชื่อกฎหมาย "บำนาญแห่งชาติ" สื่อถึงการที่ผู้สูงอายุทุกคนมีบำนาญเป็นหลักประกันรายได้รายเดือนเพื่อการดำรงชีวิต บำนาญหมายถึงเงินตอบแทนที่ได้ทำงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อออกจากงาน บำนาญแห่งชาติจึงหมายถึงเงินตอบแทนที่ได้ทำงานมาตลอดชีวิตจนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยที่สังคมไทยมีแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมเกินครึ่งของคนทำงาน การมีระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นหลักประกันครอบคลุมคนทำงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม

2) กำหนดนิยาม "บำนาญแห่งชาติ" เพื่อให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคนทั้งในและนอกระบบประกันสังคมที่อยู่ในวัยสูงอายุคือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้รับบำนาญ โดยให้ถือเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้จากงบประมาณ เนื่องจากการมีบำนาญที่เหมาะสมเพียงพอต้องมาจาก 3 ระบบรองรับคือ (1) บำนาญพื้นฐานจากรัฐ (2) บำนาญจากการสะสมของคนทำงานเอง ทั้งจากการสะสมร่วมกับนายจ้างในระบบประกันสังคม สะสมร่วมกับรัฐในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ (3) ส่วนที่คนทำงานที่มีศักยภาพ มีรายได้สูงเพียงพอต่อการสะสมหรือลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลเป็นรายได้รายเดือนของตนเองนอกเหนือไปจากที่ได้รับจาก (1) และ (2)

3) กำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคนเมื่ออายุ 60 ปี ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ โดยให้อ้างอิงจากประกาศเส้นความยากจนของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายจากงบประมาณให้กับผู้สูงอายุทุกคนมาเป็นบำนาญพื้นฐานตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ประเทศจัดการระบบบำนาญทั้งระบบ มีภาพรวมการจัดการงบประมาณที่เกี่ยวกับระบบบำนาญ ทั้งการจัดบำนาญพื้นฐาน บำนาญให้ข้าราชการ การจัดเงินสะสมเพื่อสมทบกับประชาชนที่ออมเพื่อบำนาญในกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม

4) กำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ที่มีองค์ประกอบจากภาครัฐภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสมและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกำหนดนโยบายบำนาญแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงผู้เสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรงทางอ้อม

5) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ให้กำหนดนโยบายบำนาญในภาพรวม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพการดำเนินการให้มีบำนาญสาหรับประชาชนทุกคนทั้งคนที่อยู่ในระบบจ้างงานที่มีประกันสังคมและคนที่ทำงานนอกระบบประกันสังคมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และการกำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสมที่อ้างอิงจากข้อมูลเส้นความยากจนของหน่วยงานรัฐ คือสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีการทบทวนในทุกๆ 3 ปี ซึ่งในระยะยาว หากสังคมไทยมีการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยที่ประชากรวัยทำงานทุกคนมีศักยภาพด้านรายได้ที่สามารถสะสมร่วมกับรัฐหรือนายจ้างเพื่อบำนาญของตนเองในจำนวนที่มากพอต่อการดำรงชีวิตเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ก็อาจมีการปรับอัตราบำนาญพื้นฐานเพิ่มลดได้ตามสภาพการณ์ในเวลานั้นๆ

6) กำหนดให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบจัดตั้งสำนักงานบำนาญแห่งชาติขึ้นในกระทรวง มีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของข้าราชการสำนักงาน และเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ สำนักงานทำหน้าที่จัดทำแผนงบประมาณประจำปีเป็นค่าใช้จ่ายบำนาญพื้นฐานและการบริหารจัดการสำนักงานและในส่วนการจ่ายเงินไปยังผู้รับบำนาญพื้นฐานทุกคน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูล จัดทำแผนแม่บทบำนาญแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติพิจารณา

7) บทเฉพาะกาล เพื่อเป็นการยกระดับให้มีระบบบำนาญของประเทศ การจัดให้มีบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคนสามารถดำเนินการได้เลยด้วยการออกประกาศตามอำนาจของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ยกเลิกการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายให้ทุกคนอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นจ่ายบำนาญพื้นฐานให้ผู้สูงอายุทุกคนในอัตราที่สูงกว่าเบี้ยยังชีพและเป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ คือให้ใช้เส้นความยากจนที่ประกาศโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมเป็นฐานข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :