ไม่พบผลการค้นหา
'จิรายุ' ส.ส.เพื่อไทย ชำแหละแผนล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาด ด้าน 'ศักดิ์สยาม' ลุกแจงยืนยันดำเนินการตามมติ ครม. เดินหน้าตามระเบียบกฎหมาย-หลักธรรมาภิบาล ย้อนถาม 'เอื้อประโยชน์ใคร-ใครได้ประโยชน์' แนะอย่าปะติดปะต่อข่าว อย่าใช้จินตนาการ ลั่นยกเลิกประมูลก่อนรอข้อพิพาทถึงที่สุด ช่วยเซฟเวลา 1 ปี

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า รัฐมนตรีบริหารราชการโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติและประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้ได้ดำเนินงานในกิจการของรัฐ ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานกำกับดูแล สมคบคิดกันเพื่อปิดบังการทุจริตและไม่ยึดถือในการเป็นผู้บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้มุ่งเน้นไปที่การทุจริตรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท

โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเส้นทางจากมีนบุรีถึงตลิ่งชัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม และ 2.ช่วงมีนบุรี-ตลิ่งชัน สำหรับส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่มีการทุจริตที่เป็นมหากาพย์เงินทอน เดิมพันสูง เนื่องจากมีบุคคลตัวย่อ ยอ สอ และ ออ เข้าไปเกี่ยวข้อง การล้มประมูลอย่างมีเงื่อนงำ และยังไม่มีการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการให้เอกชนประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 120,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการตั้งกรรมการคัดเลือกจำนวน 8 คน เกินครึ่งนึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาในกระทรวงคมนาคม แต่เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 คณะกรรมการได้กำหนดกฎเกณฑ์ คุณสมบัติ โดยมีเอกชนกว่า 10 ราย เข้าร่วมประมูล แต่สุดท้ายคณะกรรมการชุดนี้กลับเปลี่ยนข้อเสนอกะทันหันหลังจากที่เอกชนรายหนึ่งยื่นคัดค้าน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองขึ้น

จิรายุ  เพื่อไทย สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ E37-A116-40075BFFBC7D.jpeg

จากนั้นจึงมีคำสั่งศาลเพื่อให้ รฟม. ห้ามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจนกว่าจะมีคำสั่งอื่น ถึงกระนั้น รฟม. ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่กรรมการชุดนี้ได้ล้มประมูลโดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครอง จึงเกิดคำถามว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการรู้เห็นเป็นใจสมคบคิดกันเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดำเนินการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )ต่อไป


'ศักดิ์สยาม' แจงยึดมติ ครม.

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในขณะนี้ มีความก้าวหน้า 76% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค. 2567 

และ 2.ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการ เม.ย. 2570 อย่างไรก็ตาม ในส่วนตะวันออก จะเป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเป็นหลัก แต่ขณะที่ส่วนตะวันตก จะรวมการเดินรถเข้าไปด้วย ทั้งนี้ หากส่วนตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้ จะส่งผลให้ส่วนตะวันออกจะยังไม่เปิดให้บริการ

ศักดิ์สยาม กล่าวถึงประเด็นการคัดเลือกเอกชนว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำหนังหารือไปยังสำนักเลขาธิการ ครม. โดยเป็นการอนุมัติหลักการโครงการเท่านั้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และตามหลักธรรมาภิบาล

“ผมยืนยันว่า การดำเนินการโดยใช้ราคาและคุณภาพนั้น เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ และที่ผ่านมาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็มีปัญหา เรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานีสามยอด ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ ส่วนการยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีการสงวนให้มีการยกเลิกได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และได้มีการหารือสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ” ศักดิ์สยาม กล่าว

20210218_18.jpg

ศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ภายหลังการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยภายใน ก.พ.นี้ รฟม. จะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ 


ช่วยเซฟเวลา 1 ปี

ขณะเดียวกัน รฟม. จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ภายใน มี.ค. 2564 ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกการประมูลแล้วคัดเลือกใหม่นั้น จะใช้เวลา 6 เดือน ช่วยลดระยะเวลาได้ 1 ปี หรือหากรอให้ข้อพิพาทถึงที่สุดจะใช้ระยะเวลา 18 เดือน

“ผมขอเรียนชัดเจนว่า ที่กล่าวหาว่า การดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่า เอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ” ศักดิ์สยาม กล่าว

ทวี สอดส่อง ประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา AB-646DB6BEC341.jpeg

'ศักดิ์สยาม’ ขู่ ‘ทวี’เตรียมรับหมายศาล หลังอภิปรายพาดพิง พ่อชัย ชิดชอบ

เวลา 14.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจกรณี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันถือครองบุกรุก และพักอาศัยในพื้นที่สมบัติของแผ่นดิน หรือที่สงวนหวงห้ามที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม ที่รถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยที่ดินทั้งแปลง ระบุว่าหลังปี 2560 สถานะของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามไว้เป็นที่รถไฟ ใครที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้จะต้องมีการขับไล่ และเพิกถอนสิทธิ์ ไม่สามารถมีใครมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ได้ แต่บ้านพักของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งที่รัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และเป็นเรื่องสำคัญ คือทุกคนต้องถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม แต่หลังจากศาลฎีกาตัดสินแล้ว การรถไฟฯได้ไปฟ้องให้เพิกถอนโฉนดชาวบ้าน ซึ่งศาลก็สั่งให้เพิกถอน ดังนั้น วันนี้ รมว.คมนาคม และหน่วยงานของรัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรฟ้องทุกคนไม่ใช่ฟ้องเฉพาะคนใดคนหนึ่ง และเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะต้องทำห้ถูกต้องตามคำพิพากษา และทำอย่างไรที่จะเอาที่ดินสงวนหวงห้ามที่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติกลับมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ และรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ต้องเอาที่ดินคืนให้การรถไฟฯ ในฐานะรมว.คมนาคม แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ นี่คือการกระทำที่ผิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมนักการเมืองหรือไม่ 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในส่วนของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะดูแลกรมที่ดิน เมื่อศาลฎีกามีคำตัดสินสิ้นสุดแล้ว ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60 – 90 วัน แต่ท่านกลับปล่อยเรื่องนี้มาตลอด หรือท่านนำเรื่องนี้เป็นข้อสมประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำความจริงให้ปรกฎ

จากนั้น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า กรณีที่ดินเขากระโดง ที่มีการอภิปรายนั้น เป็นโฉนด ที่ซื้อขายกันมาจาก นส 3 ก แล้วไปยื่นขอเอกสารสิทธิ์ ชี้แนวเขตรับรองจากวิศวกรของการรถไฟ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าว มีประชาชนอาศัยมานาน ทั้งนี้ ในเรื่องของที่ดินการรถไฟนั้น ตนได้สั่งการให้ปฏิบัติงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล มีความยุติธรรม คุณธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ส่วนตัวไม่เคยแทรกแซงการปฏิบัติงานใดๆ ยืนยัน ว่าการทำหน้าที่ยึดหลักตามระเบียบกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น พล.ต.อ.ทวี ได้รุกขึ้นมาถามซ้ำ โดยระบุด้วยว่า มีบันทึกการยอมรับของ ชัย ชิดชอบ บิดา ของศักดิ์สยาม ว่าได้เข้าไปอยู่ในที่ดินการรถไฟ จากนั้น ส.ส.ภูมิใจไทย มีการประท้วงว่าเป็นการอภิปรายซ้ำ ต่อมา ศักดิ์สยาม รุกขึ้นชี้แจงว่า กรณีที่พาดพิงถึงบิดาตนนั้น ส่วนตัวไม่โกรธ แต่ไม่ทราบว่าทายาทคนอื่นจะโกรธหรือไม่ ถ้าเขาโกรธ ก็เตรียมรับหมายศาลด้วยแล้วกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :