ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่มีแนวคิดมาเกือบทศวรรษแล้วจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการใช้งานอย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์มากเท่าไหร่นัก
รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศไทย มีความพยายามชูยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้โครงการ 'ไทยแลนด์ 4.0' เพื่อหวังให้ประเทศไทยเดินหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่สภาพสังคมในปัจจุบันยังมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นที่สนใจแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น
แม้ยังต้องอาศัยการทำการตลาดและความเข้าใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยไม่น้อย แต่นิสสัน ประเทศไทย ก็ตัดสินใจนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนิสสัน ลีฟ (Nisson Leaf) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายมากที่สุดในโลกกว่า 400,000 คัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา นิสสันยังจับมือกับ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เพื่อพัฒนาเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เพื่อหวังกระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกมากขึ้น ไปแตะที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579
นายราเมช นาราสิมัน ประธานนิสสัน ประเทศไทย กล่าวว่า นิสสันลงนามบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้านครหลวงเรื่องการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว และการลงนามร่วมกับเดลต้าครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานด้านความสะดวกสบายมากขึ้น
"การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และแนวคิดใหม่สำหรับการเคลื่อนที่คือทุกสิ่งที่เรากำลังพูดถึง" ราเมช กล่าว
นายเซีย เชน เยน ประธานเดลต้า อิเลคโทรนิคส์ กล่าวถึงศักยภาพของเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยชี้ว่า สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านและสำนักงานจะเป็นการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบธรรมดากระแสสลับ ขนาด 7.36 กิโลวัตต์ ซึ่งจะใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ขณะที่สถานีบริการชาร์จไฟฟ้าสาธารณะจะเป็นเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วกระแสตรง ขนาด 50 กิโลวัตน์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 - 45 นาที
ปัจจุบันมีเครื่องชาร์จไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่โชว์รูมตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแบ่งเป็นค่าเครื่องชาร์จไฟฟ้ามูลค่า 45,000 บาท และค่าติดตั้งต่างหาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :