ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 ปี หลังจากการประท้วงที่ปะทุขึ้น จากการเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวของ มาห์ซา อามินี ซึ่งถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวในข้อหาสวมฮิญาบที่ไม่เหมาะสม
หลังจากการตายของอามินี ผู้หญิงอิหร่านได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอิหร่าน ด้วยการเผาผ้าคลุมศีรษะหรือโบกผ้าคลุมศีรษะไปในอากาศ พร้อมกันกับการเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านสถาบันนักการศาสนาของอิหร่าน ทั้งนี้ มีรายงานการพบผู้ประท้วงอิหร่าน ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตกว่าหลายร้อยคน จากการปราบปรามโดยกองกำลังความมั่นคงอิหร่าน
ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในอิหร่านจำนวนมากขึ้น ได้หยุดการคลุมผมขอวงพวกเธอในที่สาธารณะด้วยผ้าคลุมผมฮิญาบ ในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบได้คลี่คลายลง แม้ว่าตำรวจศีลธรรมจะกลับมาเดินตรวจตาบนท้องถนนอีกครั้ง และพร้อมกันกับการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามการแต่งตัวของผู้หญิงทั่วอิหร่าน
ภายใต้กฎหมายอิหร่าน ซึ่งอิงตามการตีความตามศาสนาอิสลามในประเทศ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่พ้นวัยแรกรุ่น จะต้องคลุมผมด้วยผ้าคลุมฮิญาบ และสวมเสื้อผ้าที่ยาวและหลวม เพื่ออำพรางรูปร่างของตัวเอง โดยในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อโทษจำคุกระหว่าง 10 วันถึง 2 เดือน หรือโทษปรับระหว่าง 5,000 ถึง 500,000 เรียล (ประมาณ 4 ถึง 430 บาท)
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ก.ย.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิหร่านลงมติด้วยคะแนนเสียง 152 ต่อ 34 เสียงให้ผ่านร่างกฎหมาย "ฮิญาบและพรหมจรรย์" ซึ่งกฎหมายมีเนื้อหาระบุว่า ผู้ที่ถูกจับได้ว่าแต่งตัว "ไม่เหมาะสม" ในที่สาธารณะจะถูกลงโทษ "ระดับที่ 4" ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงโทษจำคุกระหว่าง 5 ถึง 10 ปี และปรับระหว่าง 180 ถึง 360 ล้านเรียล (ประมาณ 1.54 ถึง 3 แสนบาท)
สำนักข่าว AFP รายงานด้วยว่า ร่างกฎหมายยังเสนอค่าปรับสำหรับผู้ที่ "ส่งเสริมการเปลือยกาย" หรือ "ล้อเลียนการคลุมฮิญาบ" ในสื่อและบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก และสำหรับเจ้าของยานพาหนะที่คนขับหรือผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิง ไม่สวมฮิญาบหรือสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม นอกจากนี้ บุคคลใดก็ตามที่ส่งเสริมการละเมิดการแต่งกาย "ในลักษณะที่เป็นระบบ" หรือ "โดยร่วมมือกับรัฐบาล สื่อ กลุ่ม หรือองค์กรต่างประเทศหรือที่เป็นศัตรู" อาจถูกจำคุกระหว่าง 5 ถึง 10 ปีเช่นกัน
ในขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสภาผู้พิทักษ์อิหร่าน เพื่อขออนุมัติจากสภาดังกล่าว ทั้งนี้ สภาผู้พิทักษ์เป็นกลุ่มนักการศาสนาและนักกฎหมายสายอนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายต่างๆ จากรัฐสภาอิหร่านได้ หากเห็นว่ากฎหมายที่ผ่านมาจากรัฐสภา ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระของสหประชาชาติ 8 คน ออกมาเตือนว่าร่างกฎหมายนี้ “อาจถูกอธิบายว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแบ่งแยกทางเพศ เนื่องจากทางการ (อิหร่าน) ดูเหมือนจะปกครองผ่านการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดประสงค์ที่จะปราบปรามผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้ยอมจำนน”
“ร่างกฎหมายกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สำหรับการไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับใช้อย่างรุนแรง” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว “ร่างกฎหมายยังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม การห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิในการประท้วงอย่างสงบ และสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสังคม การศึกษา และสุขภาพ และ เสรีภาพในการเคลื่อนไหว”
ที่มา: