วันที่ 23 ส.ค. 2564 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ ประเด็น ‘ครบรอบ 3 ปี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561’ ผ่านระบบ Zoom
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ วินิจฉัยให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวิษณุ เครืองาม กรณีดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อปี 2562 ว่า เบื้องต้นมีการปรึกษากับคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. รวมถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายต่าง ๆ และศึกษาตามรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่า มีการระบุถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ ไม่ใช่จะเปิดเผยได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญมาก อภิปรายเรื่องนี้กันเยอะ โดยการวินิจฉัย พ.ร.บ.ป.ป.ช. กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ อาจไม่ตรงกัน แต่ของ ป.ป.ช. การบอกให้ยื่นเป็นหลักฐานเท่านั้น
“แค่เราจะไปตรวจ ยังไปตรวจไม่ได้เลย ได้แค่เก็บไว้ แต่ถ้ามีการอ้างถึงเมื่อไหร่ ถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ เรามีหน้าที่แค่เก็บ และไม่ได้มีแค่ 2 ท่านนี้ ยังมีอีกหลายคนยื่นในลักษณะเป็นหลักฐานเช่นกัน ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเราจะถูกดำเนินคดีด้วยเหมือนกัน”
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเปิดเผยกรณียื่นเป็นหลักฐาน และจะชี้แจงไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯว่า การตีความข้อกฎหมายของท่านกับเราไม่เหมือนกัน เราดำเนินการตามบทบัญญัติต่างกัน มีความรับผิดชอบทางอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ในส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 มีการพิจารณาการเปิดเผยทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ และ วิษณุ ว่า แล้วเห็นว่า จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบตามมาตรา 243 (3) ประกอบมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2561 ข้อ 7 กำหนดว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ครอบครองดูแลเอกสารดังกล่าวจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร
ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเปิดเผยโดยให้ผู้อุทธรณ์เข้าตรวจดูได้ตามคำร้องขอ