นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ของเครือข่ายสมาชิกสร้างรายได้รวมถึง 1.5 แสนล้านบาท ต่อปี มีสมาชิก 2,511 บริษัท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมลงทุน หรือเป็นบริษัทข้ามชาติ มีมาตรการการบริหารจัดการ มาตรฐานบุคลากร มาตรการการให้บริการ มีเครือข่ายต่างประเทศ และมีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาคือ ธุรกิจขนาดกลาง ที่มีความพร้อมขยายกิจการ และธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อย 80 ของสมาชิกทั้งหมด
"กลุ่มขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่ขาดเงินทุน ใช้แรงงานเข้มข้น และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ" นายสุวิทย์ กล่าว
ดังนั้น ทางอยู่รอดของธุรกิจเหล่านี้คือการสร้างความสามารถด้วยการสนับสนุนจากรัฐ การได้พันธมิตรธุรกิจที่เข้มแข็ง การเข้าร่วมงานสัมมนาที่เกี่ยวข้อง หรือการรับรู้เทรนด์ธุรกิจ
ขณะที่ เร็วๆ นี้ ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2562 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงาน 'TILOG-LOGISTIX 2019' ณ ไบเทค บางนา เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ไทย
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำให้มีต้นทุนการบริหารจัดการการขนส่ง การทำโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ไม่ใช่การทำให้ถูก แต่เป็นการทำให้มีราคาเหมาะสม จะช่วยสร้างความได้เปรียบกับธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคที่การค้าพาณิชย์ หรือ อี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในเวลานี้
การจัดงาน TILOG-LOGISTIX 2019 จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ที่อาจมองไม่เห็นต้นทุนของธุรกิจ แต่มันคือต้นทุนที่สำคัญ ดังนั้น ปีนี้การจัดงานที่จัดต่อเนื่องมา 5 ปี จึงจัดขึ้นด้วยแนวคิด 'Transformation and Collaboration for Tomorrow' หรือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือ โดยเฉพาะการทำให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแข่งขันได้
เพราะกระบวนการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ยืดอายุสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตร ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ประกอบกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอี-คอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ต่างๆ ยิ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเทคโนโลยี
ข้อมูลเมื่อปี 2561 พบว่าธุรกิจการค้าออนไลน์ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14 สูงสุดในอาเซียน ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งในประเทศไทยเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะธุรกิจคลังสินค้า ไปรษณีย์ รับส่งสินค้า โดยในปี 2561 มีมูลค่า 3.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.3
ดังนั้น ในมุมของผู้ที่อยู่ในภาคเอกชน นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยสงครามการค้าโลก ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันใน 4 เรื่อง ได้แก่ การมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ, การสร้างห่วงโซ่มูลค่า (valued chain) ด้วยการหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายและเข้ากับเทรนด์ของธุรกิจ, การพัฒนาระบบไอที อี-คอมเมิร์ซ และพัฒนาแรงงาน ให้มีความรู้ มีหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ขณะที่ นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าใจในธุรกิจโลจิสติกส์จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถสร้างรายได้ สร้างโอกาส ลดอุปสรรค ลดต้นทุน ซึ่งรวมถึงการลดการใช้แรงงานคน ลดเงิน ลดเวลาด้วย
ทั้งนี้ งาน TILOG-LOGISTIX 2019 ผู้จัดงานคาดว่า จะมีผู้ร่วมงานกว่า 11,000 คน มีผู้นำสินค้ามาจัดแสดง 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ ในพื้นที่จัดงานกว่า 8,000 ตารางเมตร
นายสุทธิศักดิ์ วินานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี๊ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ไฮไลต์ของงานในปีนี้จะเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม โซลูชันการบริหารซัพพลายเชน โดยในงานจะมีโซนอินโนเวชัน โชว์เคส โซนการบริหารจัดการโลจิสติกส์สตาร์ทอัพ การพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล รวมถึงตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ ธุรกิจ Self Storage หรือการจัดเก็บเอกสารภายใน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :