ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตในเวเนซูเอลายืดเยื้อยาวนานมาเกือบสองปี และภาพข่าวที่ประชาชนเวเนซูเอลาต้องคุ้นหาอาหารจากถังขยะกลายเป็นภาพที่สะเทือนใจคนทั้งโลก

มีการอธิบายว่าวิกฤตในเวเนซูเอลาเกิดจากนโยบายประชานิยม แต่คำอธิบายนั้นผิดพลาดอย่างยิ่ง 

ประธานาธิบดีที่เริ่มใช้นโยบายประชานิยมในเวเนซูเอลา คือ ฮูโก ชาเวซ ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 1998 ด้วยการหาเสียงที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ประเทศเวเนซูเอลาจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับถูกกดให้ยากจน เพราะรายได้กระจุกตัวอยู่ในมือของบรรดาอภิสิทธิ์ชนหรือชนชั้นสูงที่เจตนารักษาความไม่เท่าเทียมในประเทศและเอาเปรียบคนจน เพื่อรักษาความมั่งคั่งและผลประโยชน์ให้กับพวกตนเอง 

เมื่อชาเวซชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี เขาได้ดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อทำลายความไม่เท่าเทียมในสังคมและขจัดความยากจน มีการพัฒนาสวัสดิการสังคม ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการจัดปฏิรูปการถือครองที่ดิน โดยจำกัดขนาดที่ดินที่บุคคลสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้ ทำให้บรรดาชนชั้นสูงเจ้าที่ดินต้องขายที่ดินให้รัฐในราคาถูก แล้วนำที่ดินนั้นจัดสรรให้ชาวบ้านที่ยากจน 

ซึ่งทำให้ชนชั้นสูงเสียผลประโยชน์มหาศาล กลายเป็นรอยแค้นล้ำลึกที่อยู่ในใจชนชั้นสูงของประเทศ และนำไปสู่การหนุนหลังให้นายพลระดับสูงทำการรัฐประหารในปี 2002 แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่เป็นขวัญใจคนจน มีประชาชนและทหารระดับล่างที่ไม่ใช่ทหารลูกท่านหลานเธอนิยมเขาอยู่มากมายมหาศาล ถึงกระนั้น ชาเวซก็ถูกวิจารณ์ว่าคอรัปชั่นและใช้อำนาจเกื้อกูลญาติมิตร ซึ่งฝ่ายที่วิจารณ์ก็คือบรรดาชนชั้นสูงที่เสียผลประโยชน์ 

เมื่อชาเวซเสียชีวิต ในปี 2013 นิโคลัส มาดูโร ได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ แต่เขาไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศเท่าชาเวซ และไม่สามารถแก้ปัญหาเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้รายได้หลักของประเทศลดลงมหาศาล 

AFP-เวเนซุเอลาประท้วงต่อต้านรัฐบาล ปธน.นิโกลัส มาดูโร นำโดยฮวน กวัยโด แกนนำฝ่ายค้าน

มาดูโรตัดงบสวัสดิการสังคมหรือโครงการประชานิยมต่างๆ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้น และยังบริหารผิดพลาดหลายประการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในประเทศ แต่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของมาดูโร ยังไม่นำประเทศไปสู่วิกฤต 

วิกฤตในเวเนซูเอลาเกิดเมื่อมาดูโรตัดสินใจทำตัวเป็นเผด็จการ ในเดือนมีนาคม 2017 ด้วยการใช้ “ตุลาการภิวัฒน์” คือให้ศาลสูงสุดออกคำสั่งยึดอำนาจจากรัฐสภาเพราะรำคาญเสียงวิจารณ์จากผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้าน และจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมากและเริ่มเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้มาดูโรลงจากตำแหน่งแล้วจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ รวมทั้งให้ถอดถอนผู้พิพากษาที่ลงนามในคำสั่งยึดอำนาจรัฐสภา แล้วปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังไว้ทั้งหมด 

อย่างไรก็ดี การประท้วงยืดเยื้อหลายเดือน มีผู้เสียชีวิตนับร้อย ในขณะที่มาดูโรปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจและจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่กลับใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน โดยจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน 2017 และด้วยกลเม็ดตุกติกสารพัดของฝ่ายรัฐบาลก็ทำให้บรรดาผู้ได้รับการเลือกล้วนเป็นคนที่มาดูโรเลือกสรรมาเองทั้งสิ้น ส่วนมากเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับมาดูโรและผู้ที่สนับสนุนมาดูโร แม้แต่ภรรยาของเขาเองก็ได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

ประชาชนจึงโกรธเคืองยิ่งขึ้น การประท้วงยิ่งรุนแรง แต่มาดูโรกลับยิ่งดื้อดึง และสั่งกองทัพที่ภักดีกับตนให้สังหารประชาชนที่เดินขบวนประท้วงอย่างเหี้ยมโหด 

ในเดือนสิงหาคม 2017 สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เคยช่วยเหลือเวเนซูเอลามาตลอด รับไม่ได้กับพฤติกรรมของมาดูโร จนประกาศคว่ำบาตรมาดูโร ทำการยึดทรัพย์สินของมาดูโรในสหรัฐฯ และห้ามประชาชนสัญชาติอเมริกันทำธุรกรรมกับมาดูโร แต่ก็ไม่อาจทำให้มาดูโรยอมลงจากอำนาจได้ 

AFP-นิโกลัส มาดูโร-เวเนซุเอลา-เวเนซูเอลา-ซอลต์เบ


ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2017 ถึงปี 2019 กองทัพของมารูโดยังเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่ศิโรราบต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ยิ่งวิกฤตยืดเยื้อเศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งย่อยยับ จนประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มต้องคุ้ยอาหารจากถังขยะ เด็กเล็กเริ่มเสียชีวิต ทำให้สหรัฐฯและประเทศใกล้เคียงพยายามส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนเวเนซูเอลา แต่กลับถูกกองทัพของมาดูโรใช้ความรุนแรงห้ามขบวนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ให้เข้าประเทศ เพราะมองว่าเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลยังมีแรงประท้วงต่อ 

ด้วยเหตุนั้น ในเดือนมกราคม 2019 สหรัฐฯ จึงคว่ำบาตร PDVSA รัฐวิสาหกิจผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของเวเนซูเอลา และเรียกร้องให้กองทัพเวเนซูเอลายอมวางอาวุธและให้ประธานาธิบดีมาดูโรลงจากอำนาจอย่างสันติ แต่ก็ไม่ได้ผล

ฝ่ายต่อต้านมาดูโร ประกาศตั้งนายฮวน ไกวโด ผู้นำฝ่ายค้านเป็นประธานาธิบดี และมีนานาชาติให้การรับรองสถานภาพของเขามากกว่า 50 ประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา และสหรัฐฯ 

จะเห็นได้ว่า สาเหตุของวิกฤตไม่ใช่ประชานิยม แต่คือความเผด็จการของมาดูโรที่ไม่เห็นประชาชนในสายตา