ไม่พบผลการค้นหา
ทวงความยุติธรรม 'วีรชนเสื้อแดง 53' เรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการ เร่งรื้อฟื้นคดีที่ถูกแช่แข็งเข้าสู่กระบวนการ เข้าทวงสัญญา 'เพื่อไทย' 27 ก.พ. นี้ ก่อน 29 ก.พ. เข้าสภายื่น 'ก้าวไกล'

25 ก.พ.2567 คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช. 53) นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ เลขาธิการ คปช. 53 และอดีตประธาน นปช. พร้อมด้วย นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. พร้อมด้วยคณะกรรมการญาติวีรชน ร่วมกันแถลงข่าว 'การทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง 2553'

ธิดา ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง (14 พ.ค.2566) ในฐานะสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล ระบุว่า ผลการเลือกตั้ง 2566 ได้เปิดเผยถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสากลโดยประชาชน จำนวน 25.401 ล้านคน จาก 39.5 ล้านคน ที่มาออกเสียงเลือกตั้ง คิดเป็น 64.28% ของผู้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิ 75.71% ของประชากรไทยทั้งหมด

แม้ในที่สุดเราจะได้รัฐบาลผสมที่มีทั้งขั้วเสรีนิยมร่วมกับขั้วอนุรักษนิยมเดิมที่เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม คณะประชาชนผู้ต้องการความยุติธรรมที่ผ่านการต่อสู้ครั้งสำคัญในปี 2553 จนถึงเวลาปัจจุบัน ประสงค์ให้หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าของประชาชนได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

จึงใคร่ทวงถามข้อเรียกร้องเดิม ที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านเวลานั้นก่อนการเลือกตั้ง ได้รับเรื่องและให้คำมั่นไว้เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ที่รัฐสภา และวันที่ 10 เม.ย.2566 ในงานรำลึก 13 ปี เม.ย.-พ.ค. 2553

ในข้อเสนอต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านเวลานั้น เรามีข้อเสนอ 8 ข้อ เป็นข้อเสนอ กรณีความยุติธรรมปี 2553 มี 3 ข้อเรียกร้องที่เรายังขอยืนยัน คือ

1. ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และตัวแทนฝ่ายผู้สูญเสีย, นักวิชาการ, นักสิทธิมนุษยชน, นักกฎหมาย เพื่อตรวจสอบคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็ง บิดเบือน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐไทย และตามหลักนิติรัฐนิติธรรม รวมทั้งคดีความที่ปฏิบัติต่อเยาวชน/ประชาชนหลังปี 2563 เป็นต้นมา ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ลงนามหลักสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ เร่งรัดคดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนและยังค้างคาอยู่ที่หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กระทรวงยุติธรรม, อัยการ ฯลฯ

2. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารไปขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป

3. ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พ.ย.2555

ส่วนข้อเสนออื่นๆ อีก 5 ข้อ จะเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแท้จริง และการทวงความยุติธรรมให้คนรุ่นใหม่ในสถานการณ์จากปี 2563 เป็นต้นมา ไปจนถึงสถานการณ์ในอนาคตของประเทศไทย

1. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ตามสัดส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้ลงนามไว้ในสหประชาชาติ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ก็ควรให้สัตยาบันในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

2. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง พ.ร.บ.องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

3. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน อำนาจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นถึงปลาย อำนาจองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ล้วนต้องยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งกองทัพ โครงสร้างการบริหารขององค์กรเหล่านี้ต้องให้อำนาจประชาชนควบคุมได้ ไม่ใช่สมคบกันจัดการประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง

4. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ เจ้าขุนชมูลนาย และการคอร์รัปชั่นส่งนายใหญ่ตามลำดับ ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

5. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา สส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย เพราะตราบเท่าที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง วุฒิสมาชิก ถูกแต่งตั้งจากรัฐทหารจารีต อำนาจประชาชนก็ถูกจัดการทำลาย ยุบพรรคการเมืองโดยง่าย จับกุมคุมขังลงโทษประชาชนผู้เห็นต่างเหมือนเช่นทุกวันนี้

อนึ่ง ใน 8 ข้อนี้ จะยึดโยงกับการได้รัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ซึ่งจะต้องได้มาจากประชาชนใช้อำนาจโดยตรง

ดังนั้น การทวงความยุติธรรมให้ประชาชน 2553 จึงเกี่ยวข้องยึดโยงโดยตรงกับการได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ก้าวหน้าเท่านั้น และเราสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีความของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเรียกร้องทวงความยุติธรรมของประชาชนเพื่อการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชน

ข้อเรียกร้องของเราในกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 เป็นข้อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศที่เราลงนามไปแล้วในสหประชาชาติ จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทั้งสิ้น และเพื่ออนาคตของประเทศจะได้ไม่มีการฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางถนนครั้งแล้วครั้งเล่าอีกต่อไป

ธิดา ยังกล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ คปช. 53 ก่อตั้ง มีแกนนำคนเสื้อแดงหลายคนที่ยังติดภารกิจอื่น หรือไปร่วมงานกับพรรคการเมือง จึงไม่สามารถมาเข้าร่วมได้ แต่เชื่อว่าทุกคนต่างก็มีความปรารถนาจะทวงคืนความยุติธรรมเช่นเดียวกัน

ขณะที่ นพ.เหวง ยกกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ที่นิรโทษกรรมบรรดานักโทษทางการเมือง จึงมีความเห็นว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็สามารถลงนามออกคำสั่ง หรือให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และเห็นว่าจะเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล

ทั้งนี้ คปช. 53 จะเดินทางไปทวงคำมั่นสัญญาของพรรคการเมือง โดยในเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ก.พ. นี้ จะเดินทางไปที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับ ขณะที่วันที่ 29 ก.พ. จะเดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นเรื่องต่อพรรคก้าวไกล