ไม่พบผลการค้นหา
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ เมื่ออดีตผู้นำ 'จาคอบ ซูมา' ถูกศาลสูงสุดตัดสินจำคุก 15 เดือนฐานหมิ่นอำนาจศาล ไม่มาให้การในระหว่างการสอบสวนข้อกล่าวหาคดีคอร์รัปชัน

เมื่อ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของแอฟริกาใต้ ได้มีคำสั่งตัดสินจำคุกอดีตประธานาธิบดี จาคอบ ซูมา เป็นเวลา 15 เดือน ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการขัดขืนคำสั่ง ไม่มารับฟังการไต่สวนคดีคอร์รัปชันทั้งในสมัยก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยให้เวลา 5 วัน คือไม่เกินเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ในการมอบตัวกับตำรวจ แต่หากพยายามหลบหนี ตำรวจสามารถออกคำสั่งเพื่อจับกุมซูมาได้ทันที

โดยก่อนหน้านี้ ซูมาเคยปรากฎตัวที่ศาลเพื่อให้การต่อคณะกรรมาธิการไต่สวนข้อกล่าวหาว่าด้วยการกุมอำนาจรัฐ (Commission of Inquiry into Allegations to State Capture) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบความผิดเกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและองค์กรของรัฐแค่เพียงครั้งเดียว เมื่อช่วงปลายปี 2562 ซึ่งซูมาได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และหลังจากนั้นก็หลีกเลี่ยงที่จะปรากฎตัวต่อศาลมาโดยตลอด ส่งผลให้ เรยมอนด์ ซอนโด ประธานกมธ.ชุดดังกล่าว ตัดสินใจส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยว่า การกระทำของซูมาเข้าข่ายหมิ่นอำนาจศาลหรือไม่ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ด้านซูมาจึงได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลอย่างเผ็ดร้อนว่า การเข้าแทรกแซงของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความพยายามของศาลที่จะคิดหา "แนวทางพิเศษ" ในการพิจารณาคดีเพื่อเอาผิดตนอย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้น ตนจะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับคำสั่งของศาลที่อยุติธรรมเช่นนี้ พร้อมย้ำว่าตนได้ตกเป็นเหยื่อของการสมรู้ร่วมคิดทางการเมืองขนานใหญ่

จากกรณีดังกล่าว ผู้พิพากษา ซีซี คัมเปเป ได้อ่านคำสั่งพิพากษาจำคุกซูมา ระบุว่า จำเลยพยายามที่จะกัดกร่อนความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพฤติการณ์ยั่วยุที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อระบบตุลาการ พร้อมย้ำว่า

"ไม่มีใครที่จะอยู่เหนือกฎหมายได้ หากผู้ถูกกล่าวหาในคดีสามารถเลือกได้ตามอำเภอใจว่าจะเคารพหรือเพิกเฉยต่อคำสั่งใดๆของศาล เช่นนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนเอาไว้ก็ไร้ค่า"

ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา ด้าน เอ็ดเวิร์ด ซูมา ลูกชายของอดีตผู้นำ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า "จุดยืนของผมยังเหมือนเดิม ถ้าจะเอาพ่อผมเข้าคุก ก็ต้องข้ามศพผมไปให้ได้ก่อน" ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ถ้อยคำรุนแรงที่เต็มไปด้วยความโกรธนี้ อาจทรงพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้นมาได้ หากว่ามวลชนที่ให้การสนับสนุนซูมายังคงมีมากพอ ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยในตอนนี้

timesliveSA - ผู้สนับสนุนซูมา

อย่างไรก็ดี แม้โทษจำคุกจะยาวนาน 15 เดือนก็จริง แต่มีแนวโน้มว่าซูมาอาจจะยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลจากปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือการแจ้งความจำนงที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชทัณฑ์ เพื่อลดความแออัดภายในเรือนจำจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ซูมาได้ทำหนังสือคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งจำคุกของตน ระบุว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการทบทวนคำสั่ง และให้มีการพิจารณาอีกครั้งว่าได้ใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตอำนาจของศาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าตนไม่เกรงกลัวที่จะต้องเข้าเรือนจำแต่อย่างใด เพราะเคยผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้ว


อภิปรายไม่ไว้วางใจทีไรก็รอด จนได้ฉายา 'ผู้นำเทฟล่อน'

อนึ่ง ซูมา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ วัย 79 ปี จากพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา หรือ พรรคเอเอ็นซี (African National Congress) ผู้ซึ่งครองอำนาจมายาวนานเกือบทศววรษ ตั้งแต่ช่วงปี 2552-2561 รอดพ้นจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้านได้ถึง 8 ครั้ง ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2561 ท่ามกลางกระแสกดดันจากพรรครัฐบาลที่ตนสังกัด อันเป็นผลสะสมจากการถูกฟ้องร้องว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง ฟอกเงิน รับสินบน หนีภาษี และประกอบธุรกิจผิดกฎหมายนับสิบคดี ในกว่า 700 ข้อหา

สำหรับคดีคอร์รัปชันอันฉาวโฉ่ของซูมา อาทิ กรณีมีส่วนพัวพันกับการทุจริตงบประมาณจัดซื้ออาวุธมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.4 หมื่นล้านบาทจากบริษัทสัญชาติยุโรป ช่วงปี 2542 ขณะที่ซูมายังคงดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทาโบ เอ็มเบกิ

นอกจากนี้ ซูมายังเคยนำงบหลวงไปใช้รีโนเวทบ้านพักของตัวเองในเขตเอ็นกานลาด้วย คิดเป็นมูลค่าราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 482 ล้านบาท โดยในปี 2559 ศาลรัฐธรรมนูญพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงได้มีคำสั่งให้ซูมานำเงินงบประมาณส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยของบ้านพักอดีตผู้นำมาจ่ายคืน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกรณีที่ซูมาสมคบคิดกับตระกูลนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ชาวอินเดียเพื่อใช้อิทธิพลครอบงำกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น การปลดหรือแต่งตั้งข้าราชการทางการเมือง และการได้รับสัมปทานจากรัฐโดยมิชอบ เพื่อแลกกับเงินบริจาคเข้าสู่พรรคเอเอ็นซีเป็นจำนวนมาก รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆแก่ครอบครัวซูมา


คดีทุจริตอื้อ ทำไมยังมีคนสนับสนุน?

สำหรับสาเหตุที่ซูมายังคงได้รับคะแนนนิยมจากมวลชนบางส่วนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะซูมาเคยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ในการยืนหยัดต่อต้านรัฐบาลคนขาวที่กดขี่คนดำอย่างไม่เป็นธรรมผ่านนโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ที่กีดกันคนดำไม่ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง โดยซูมานั้น ถูกตัดสินจำคุกในปี 2506 ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองหลายพันคนในยุคนั้น เป็นเวลาถึง 10 ปี ตั้งแต่มีอายุเพียง 21 ปี

getty - เอ็มเบกิ แมนเดลา ซูมา
  • ภาพของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้หลังยุคแบ่งแยกสีผิว: ทาโบ เอ็มเบกิ (ซ้าย) เนลสัน แมนเดลา (กลาง) จาคอบ ซูมา (ขวา)

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พื้นเพดั้งเดิมของซูมาเป็นชนเผ่าซูลู มาจากครอบครัวที่มีบิดาประกอบอาชีพเป็นตำรวจ แต่ได้จากไปตั้งแต่ซูมาอายุเพียง 4 ปี และมีมารดาเป็นคนทำงานรับใช้ในบ้าน ทำให้ซูมาต้องดิ้นรนทำงานหลายอย่างเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อยจนไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระบบ แต่ซูมาก็มีความพยายามในการฝึกอ่าน-เขียนด้วยตัวเองจนแตกฉาน รวมถึงมีความตื่นรู้ทางการเมืองสูง จนเป็นที่มาของการตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกพรรคเอเอ็นซีแบบลับๆ ตั้งแต่อายุ 17 ปี เพื่อต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ซูมากลายเป็นผู้นำในดวงใจของใครหลายๆคนด้วยความเป็นคนของประชาชนที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงง่าย

ที่มา: CNN, BBC, The Guardian, Reuters, Eye Witness News, Deutsch Welle, SABC News, Biography.com, Mail & Guardian

ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog