ไม่พบผลการค้นหา
กกต. เปิดแนวทางปฏิบัติการหาเสียงเลือกตั้ง ตามกรอบระยะเวลา 180 วัน แบ่งข้อกำหนด 3 กลุ่ม 'ผู้สมัคร และพรรคการเมือง - ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-หน่วยงานรัฐ' ร่วมงานบุญได้ แต่ห้ามใช้เงินตัวเอง เว้นแต่เจ้าภาพเตรียมไว้ให้

วันที่ 27 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยกรณีที่เกิดความไม่เข้าใจในระหว่างพรรคการเมือง และผู้ประสงค์จะลงเลือกตั้ง

แสวง กล่าวว่า กกต. ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรม และความเรียบร้อย เพื่อให้พรรคการเมือง และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกัน รวมถึงการหาเสียงมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ต่างกันเรื่องเวลา 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดอายุสภาผู้แทนฯ 

อีกทั้งระเบียบว่าด้วยการหาเสียง พรรคการเมืองต่างคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะเป็นระเบียบเดียวกับการเลือกตั้งปี 2562 และระเบียบว่าด้วยการหาเสียงฉบับที่ 3 เป็นการออกมาเพื่อปิดช่องว่าง กรณียุบสภา และจะต้องหาเสียง 180 วันก่อนวันเลือกตั้งซึ่งมีสาระ 2 ประการ คือ 

กรณีที่ว่าทำไมยังไม่มีเขตเลือกตััง ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเป็น 400 เขตแล้ว เพราะว่า กกต. ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และยังต้องส่งคำชี้แจงในด้านของกกต. ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และให้ระเบียบที่ออกมานั้น มีการบังคับใช้กับผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ แสวง ได้ชี้แจงถึงเกณฑ์ของการหาเสียงในระยะเวลา 180 วัน ตามระเบียบของ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ออกมา 3 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

📌 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง

  1.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานศพ และสามารถมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ห้ามให้เงิน ยกเว้น เจ้าภาพจะจัดของเตรียมพิธีการไว้ เช่น บังสกุล หรือเงินปัจจัย หรือ การระบุชื่อไว้ในงานประธานพิธีทอดกฐิน โดยที่ไม่มอบเงินจากตัวเอง แต่ทั้งนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อ หมายเลขผู้สมัครของผู้สมัคร และพรรคการเมืองในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้ 

  2.ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความจำเป็นจัดงานพิธีในช่วง 180 วัน สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็นเช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน และให้หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยอาจจะเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่าจัดเลี้ยง หรือมหรสพ อันเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

  3.หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง และส.ส. สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามไม่ให้จัด หรือนำคนไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งโดยได้รับค่าตอบแทน หรือ จ้างไปฟัง 

  4.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น โรงเรียน หรือสถานที่ราชการ โดยต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน 

  5.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด หรือเหตุในทำนองเดียวกันได้ 

  6.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถติดประกาศ แผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้ง โดยวิธีการ ขนาด จำนวน และสถานที่ ตามที่กำหนด สำหรับแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้ว ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามขนาด จำนวน และสถานที่ที่กำหนด

  7.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2565


📌 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ รัฐบาล ข้าราชการการเมือง ส.ส. และกรรมาธิการ 

  1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติเช่น การออกงานวิทยุโทรทัศน์ เป็นประธานในพิธีต่างๆ หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ให้มีการกระทำการใดๆ ที่อาศัยตำแหน่งให้แก่ตนเอง ผู้อื่น และพรรคการเมือง 

  2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานศพ และสามารถมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ห้ามให้เงิน ยกเว้น เจ้าภาพจะจัดของเตรียมพิธีการไว้ เช่น บังสกุล หรือเงินปัจจัย หรือ การระบุชื่อไว้ในงานประธานพิธีทอดกฐิน โดยที่ไม่มอบเงินจากตัวเอง แต่ทั้งนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อ หมายเลขผู้สมัครของผู้สมัคร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้ 

  3.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถหาเสียงเลือกตั้งนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณ หรือโทษให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดๆ 

  4.นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง หลังจากที่อายุสภาผู้แทนราษฎรครบแล้วให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ส.ส. และกรรมาธิการ สามารถไปลงพื้นที่ หรือทำหน้าที่ของกมธ. เพื่อไปรับฟังเสียงของประชาชนได้ ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายอย่างไร 

📌หน่วยงานของรัฐ 

  1.สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดประกวดแข่งขันต่างๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี และการปฏิบัติงานตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

  2.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้การร่วมมือสนับสนุนเลือกตั้ง

  3.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ วางตัวเป็นกลางในทางการเมือง

  4.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้ง และปิดประกาศ แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 

  5.ให้มีการสนธิกำลังระหว่าง ทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดการเลือกตั้ง

  6.การทำเอกสาร เผยแพร่ของหน่วยงานรัฐ เช่น ปฏิทินปีใหม่ที่มีรูปของรัฐมนตรี ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานเท่านั้น เพื่อไม่ให้เข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 

  7.การจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาลงพื้นที่ของรัฐมนตรี คณะกรรมการต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้พึงระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายว่าเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนการจัดทำป้ายต้อนรับ หรือขอบคุณ ของพรรคการเมือง ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจเป็นป้ายหาเสียง และขัดต่อมติ ครม. ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง 

นอกจากนี้ แสวง ยังได้ชี้แจงถึงวิธีการปิดแผ่นป้ายหาเสียง ดังนี้ 

  1.การปิดประกาศให้จัดทำประกาศโดยกำหนดให้เป็นแนวตั้ง ไม่เกิน 30 x 42 เซนติเมตร หรือขนาด A3 

  2.การจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้จัดทำ 130 x 245 เซนติเมตร

  3.การจัดทำป้ายประกาศ ให้ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้ที่ชัดเจนของแผ่นป้าย และป้ายประกาศเกี่ยวกับเลือกตั้ง 

  4.จำนวน และสถานที่ในการปิดประกาศ เป็นไปตามประกาศที่กกต. กำหนดเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีจัดทำสถานที่ปิดประกาศ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรณียังไม่มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง การปิดประกาศแผ่นป้าย โดยวิธีการจัดทำ ขนาด จำนวน ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่ กกต. กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 

  5.การติดแผ่นป้ายประกาศ ณ ที่ทำการพรรค สาขาพรรค หรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง สามารถติดได้ที่ละ 1 แผ่น ขนาด 400 x 750 เซนติเมตร

  6.ต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องการยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นคือ แผ่นพับ แผ่นใบปลิว เอกสารที่มีขนาดเล็ก สติกเกอร์ หรือจอ LCD, สามารถที่จะทำได้โดยไม่ต้องเป็นไปตามขนาดหรือจำนวนที่ระเบียบ กกต. กำหนด แต่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง