นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ขณะที่นางสาวเพ็ญศรี พิพัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) บริเวณเกาะบางู หรือ เกาะเก้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ได้สำรวจพบหอยเม่นหมวกกันน็อค ประมาณ 50 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก และเป็นการค้นพบครั้งแรกของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
โดยการค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก หลากชนิดบ่อยขึ้น แต่อย่างไรก็ดี อุทยานฯ จะต้องให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทำการศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าเพราะสาเหตุใดจึงมีการค้นพบครั้งนี้ และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหอยเม่นหมวกกันน็อค พบได้ทั่วไปตามโขดหินตามชายหาดที่มีคลื่นซัดถึง ในแถบ Indo-West Pacific และ ฮาวาย (Hawaii) แต่ในประเทศไทยนั้นมีรายงานการพบหอยเม่นชนิดนี้น้อยมาก โดยรายงานการพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2530
หอยเม่นหมวกกันน็อค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus หอยเม่นหมวกกันน็อค (Helmet Urchins) หรือบางทีรู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา (shingle urchin) รูปลักษณะที่แตกต่างจาก หอยเม่นทั่วไปก็คือ พวกเนื้อตัวที่เกลี้ยงเกลาดุจมุงด้วยกระเบื้อง ไร้ซึ่งหนามแหลมแม้แต่อันเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าหอยเม่นหมวกกันน็อคได้มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่อาศัยเนื่องจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันมีคลื่นลมรุนแรง ทำให้มีนักล่าน้อยนักที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้ ประกอบกับการที่อยู่ในพื้นที่มีคลื่นลมรุนแรง หนามแหลมนั้นเป็นอุปสรรค เนื่องจากมันจะต้านคลื่นอาจทำให้พวกมันถูกซัดหลุดจากโขดหินที่อยู่อาศัย และเมื่อไม่มีผู้ล่าหนามแหลมที่ใช้ป้องกันตัวจึงหมดความจำเป็นไป