ศูนย์สารนิเทศสรรพากร ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้สำหรับรายการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563
การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ ให้กับภาคเอกชน อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วน 4 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 80 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 10.0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80/2 (1) การขายสินค้า (2) การให้บริการ (3) การนำเข้า
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกัน สำหรับการขายสินค้า การให้บริการและการนำเข้าทุกกรณี อาทิ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2546, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 465) พ.ศ. 2550 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 549) พ.ศ. 2555 และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 669) พ.ศ. 2561 เป็นต้น ซึ่งทำให้ที่ผ่านมา การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังอยู่ที่อัตราร้อยละ 7 ต่อเนื่องมานานกว่า 16 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :