ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ ประจำวันที่ 20 มี.ค. 2563 ในประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนภาวะเศรษฐกิจจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มี.ค.นี้
โดยก่อนหน้านี้ กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา คือปรับลดจากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1
คณะกรรมการฯ ชี้ว่า การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดีอยู่ โดยมาตรการครั้งนี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ถ้อยแถลงจาก กนง.ย้ำว่า นอกจากมาตรการที่ออกมาจากฝั่ง ธปท.ก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินในเชิงรุกเช่นเดียวกัน โดยให้เน้นไปที่การช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กนง.จะยังมีการประชุมตามวาระปกติในวันที่ 25 มี.ค.ที่จะถึงนี้
จับตา ธปท. งันมาตรการกึ่ง QE
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กนง. กำลังยอมรับสภาพที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยตามเศรษฐกิจโลก ส่วนจะลงดิ่งเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่กระทบภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ ชี้ว่าตนขอชื่นชมกนง.ที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยโดยไม่รอวาระการประชุมปกติและมองไปข้างหน้า และยังมองว่าธปท.น่าจะมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพิ่มเติม เพราะตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องแม้ธนาคารกลางสำคัญอัดฉีดเงินมหาศาล
พร้อมปิเท้ายว่า ตนเองรอลุ้นกนง.หั่นดอกเบี้ยอีกรอบวันที่ 25 มีนาคมนี้และอาจเผยมาตรการกึ่งๆ QE หรืออัดฉีดเงิน ที่ไทยจะใช้เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารและภาคเอกชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;