วันที่ 13 มี.ค.2565 ในงาน The 2 Leaders’ Visions จัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของ 2 บุคคลสำคัญของพรรค คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ในนามพรรค สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ โดยได้กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ว่าฯ ถือเป็นงานหนัก ที่ต้องอาศัยความพร้อมทั้งร่ายกาย-จิตใจ-สมอง เพราะต้องดูแลแต่ละเขตที่มีปัญหาละเอียดอ่อนซับซ้อนแตกต่างกัน เปรียบได้กับงานแบกหิน ขณะที่กรุงเทพฯ เปรียบได้กับประเทศไทยขนาดเล็ก สิ่งสำคัญสุดคือการเปลี่ยนชีวิตคน คนเมืองจะมีความสุขได้ ต้องมีห่วงน้อยที่สุด
“ความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานครไม่ใช่วาทกรรม แต่นี่คือเรื่องจริงที่เราจะเลือกดูหรือไม่ดูเท่านั้นเอง และทุกเขตน้ำเน่าครบทุกเขต บางเขตน้ำเน่าเหม็นตรงนี้อีก 5 ก้าว ถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำของโลกที่มีน้ำพุที่สวยที่สุด น้ำสะอาดนั่นคือ Luxury ไปแล้วหรือในเมืองแห่งนี้ แต่น้ำเน่าคือของคน กทม.” สุชัชวีร์ กล่าว
สุชัชวีร์ ประกาศวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน คือ กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่มีความทันสมัย เป็นต้นแบบของภูมิภาคอาเซียน สวัสดิการคือการประคับประคองผู้คนให้ยืนได้ เช่นการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ต้องไปกระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐ เพราะศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชนที่กระจายอยู่ 19 แห่ง ทั่ว กทม. นั้น ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง แม้จะมีศูนย์ย่อยกระจายอยู่เกือบ 100 แห่ง ทุกชุมชน แต่ก็ทำได้เพียงส่งต่อผู้ป่วยเท่านั้น นี่เป็นผลลัพธ์ของการ คิดไม่ครบ-ทำไม่จบ ด้วยสวัสดิการเช่นนี้ สามารถประเมินได้เลยว่า ในอนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะมียาดีขึ้นทำให้อายุยืนขึ้น แต่ไม่ได้มีคุณภาพความเป็นอยูที่ดี ขณะที่เด็กยังได้ค่าอาหารกลางวันเพียง 20 บาท และยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างถึงพร้อม เด็กกลุ่มนี้โตขึ้นมาจะแบกประเทศไหวได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ สุชัชวีร์ ได้เน้นย้ำว่า หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. คือต้องพัฒนาการจัดการศึกษา และการจัดการสาธารณสุข ต้องทำอย่างจริงจัง และทำให้ครบจบ เชื่อได้ว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ ได้ทันที ถ้าตนมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำให้กรุงเทพฯ มีอินเทอร์เน็ตเป็นสวัสดิการพื้นฐานของเมือง เหมือนอีก 59 เมืองทั่วโลก โดยคำนวณไว้ว่ามีกำลังสามารถติดตั้งจุดให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจำนวน 150,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ได้ และการเข้าถึงโลกออนไลน์จะทำให้ชีวิตเปลี่ยน เช่นเดียวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากของกรุงเทพฯ จากการไปตรวจประตูระบายน้ำมาแล้วร่วมร้อยแห่ง พบว่ายังขาดประสิทธิภาพ จึงได้เสนอระบบอัตโนมัติ เช่นเดียวกับระบบปั๊ม แก้จุดเล็กๆ จุดเดียว กรุงเทพฯ ก็จะเปลี่ยนทันที
สำหรับการพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบของภูมิภาคอาเซียน สุชัชวีร์ มุ่งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ให้ศูนย์ยริการสาธารณสุขแข่งกันบริการประชาชน ผู้อำนวยการเขตแข่งกันทำงานให้เร็ว โรงเรียนแข่งกันพัฒนาคุณภาพ การบอกว่าข้าราชการไม่ควรทำงานโดยแข่งขันกันก็ไม่ถูกนัก หรือนักธุรกิจหากไม่แข่งขันกันก็ไม่มีทางรอด การจะเป็นต้นแบบของภูมิภาคอาเซียน คือการตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าไม่พูดอะไร อีก 4 ปี เลือกตั้งใหม่เข้ามาก็เหมือนเดิม จนคนแทบจะหมดความหวังไปแล้วว่าเปลี่ยนไม่ได้
“ผมขอบคุณทุกท่าน ที่มาพร้อมกับพลังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พลังบวกที่เชื่อว่าเปลี่ยนได้ ซึ่งผมก็เชื่ออย่างนั้นว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสวัสดิการ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ทันสมัย และกรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองต้นแบบที่ทำให้คนจับจ้อง เพราะเขาแข่งขันได้ เขาต้องวิ่งให้เร็วที่สุดความสามารถ ให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ผมกราบขอบคุณทุกท่าน และขอบคุณที่มาใส่พลังให้ผม ผมเดินมาแล้ว 40 เขต ไม่หยุดแม้แต่วันเดียว ผมเหนื่อยนะ เป็นมนุษย์ แต่วันนี้ท่านทำให้ผมคึกขึ้นมาอีก และผมคึกอย่างนี้ตลอดไป เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เพื่อที่จะสู้ ที่จะกล้าหาญและไม่กลัวการโดนอะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายให้กรุงเทพฯของเรานั้น แก้ปัญหาซ้ำซากได้ ไม่เอาแล้วให้มันจบในรุ่นเรา และวางรากฐานส่งมอบกรุงเทพฯถึงลูกหลานอย่างภาคภูมิใจได้” สุชัชวีร์ กล่าว