ศ.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ แม็ค หม่า รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเวลา 5 ปี ในโครงการที่หัวเว่ยจะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านนวัตกรรมให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อการต่อยอดการวิจัยและพัฒนา
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า ที่ผ่านมาทั้งตัวคณะวิศวกรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพยายามในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี เพื่อนำมาพัฒนาหุ่นยนต์และการสร้างเมืองอัจฉริยะโดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นการทดลองมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ศ.สุพจน์ ยอมรับว่า แม้ทีมนักวิจัยจะสามารถสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาได้จริง แต่การพัฒนาไปข้างหน้าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาประกอบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในฝั่ง สัญญาณ 5จี, ชิปเซ็ทเอไอ และเทคโนโลยีคลาวน์
ศ.สุพจน์ ยกตัวอย่างว่า กรณีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ผ่าตัดทางไกล สัญญาณการเชืื่อมต่อในปัจจุบันหรือเทคโนโลยี 4จี ยังทำให้เกิดความล่าช้าในการสั่งงานอยู่ ซึ่งทางการแพทย์นั้น การล่าช้าแม้เพียงหลักวินาทีก็อาจทำให้การผ่าตัดไม่สมบูรณ์และเกิดอันตรายได้
ด้านวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม หัวเว่ย (ประเทศไทย) ชี้ว่า ด้วยรูปแบบธุรกิจตอนนี้ที่หัวเว่ยเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสัญญาณ 5จี ในประเทศ จึงเลือกที่จะสร้างความร่วมมือกับจุฬาฯ ในฐานะผู้สนับสนุนเทคโนโลยีให้กับการวิจัยและพัฒนา
โดยหัวเว่ยจะมอบทั้งเทคโนโลยี 5จี ระบบประมวลผลเอไอ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวน์เพื่อช่วยในการเชื่อมต่อและพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติให้กับมหาวิทยาลัย
ศ.สุพจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางทีมวิจัยเน้นไปที่การพัฒนาหุ่นยนต์แขนกลในอุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์เป็นหลัก พร้อมชี้ว่า การได้มาซึ่งเทคโนโลยีประมวลผลที่ประเทศไทยคงสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองยากกว่าการนำสิ่งที่ผู้เล่นรายใหญ่พัฒนาไว้แล้วก่อนหน้าเป็นความได้เปรียบทางการพัฒนา
ทั้งยังเสริมว่า การชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยในปัจจุบัน อาจต้องหันไปมองที่การนำอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทรายใหญ่พัฒนากันไปก่อนแล้วมาปรับใช้ให้ตอบโจทย์กับแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแทน เพราะการสร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นจะสามารถทำกำไรให้กับประเทศมากกว่าการจะไปนั่งพัฒนาชิปเซ็ตแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่
วรกาน ปิดท้ายว่า เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายสำคัญของวงการ 5จี ในเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้ ประเทศไทยไม่ได้ถือว่าเริ่มช้าเกินไปหรือตามหลังมากเกินไป เพียงแต่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงยังต้องพัฒนาเพิ่ม เนื่องจากจีนนำเทคโนโลยี 5จี ไปใช้ในฝั่งอุตสาหกรรมการผลิตมากแล้ว ขณะที่เกาหลีใต้ก็เน้นไปท่ีการให้บริการผู้บริโภค ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ย้ำว่าประเทศไทยมาได้ดีแล้ว