เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ส.ค.) กาเบรียล โบริก ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของชิลี ได้ประกาศแผนการแห่งชาติเพื่อการค้นหาผู้หายตัวไป โดยบอริกกล่าวว่าชิลีสมควรได้รับคำตอบ เกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนที่ยังคงสูญหาย ทั้งนี้ การผลักดันในครั้งนี้ของรัฐบาลชิลีเกิดขึ้น พร้อมกันกับวาระวันผู้สูญหายสากล ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายทั่วโลก
ปิโนเชต์ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารในชิลี ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มและการเสียชีวิตของ ซัลบาดอร์ อาเยนเด ประธานาธิบดีชิลี จากพรรคสังคมนิยมที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ ในช่วงการปกครองเผด็จการ 17 ปีของปิโนเชต์ มีผู้สูญหายจำนวน 1,469 คน อันเป็นผลมาจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้สูญหาย 1,092 รายหลังจากถูกคุมขัง และ 377 รายถูกประหารชีวิต แต่ศพไม่ถูกส่งกลับไปให้แก่ญาติ
“เรามีภาพลวงตาว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ แต่หลายปีที่ผ่านมา เราตระหนักได้ว่าพวกเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่” ฮวนนา อันเดรียนี อดีตผู้ถูกคุมขังและเพื่อนของบุคคลที่หายตัวไป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters “อย่างน้อยพวกเขาก็ควรบอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา มีการทำอะไรต่อพวกเขา นั่นเป็นส่วนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปีนี้”
ทั้งนี้ การปกครองชิลีของปิโนเชต์ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสรัฐประหาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาช่วงสงครามเย็น
ผู้สนับสนุนการสืบหาผู้ถูกบังคับสูญหายในชิลี ยังได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยเอกสารต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับชิลีสู่สาธารณะ อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารในการบรรยายสรุปข่าวกรองเมื่อปี 2516 แก่ ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ให้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป โดยในเอกสารบรรยายสรุปขณะนั้น หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้แจ้งต่อนิกสัน ให้ทราบถึง "ความเป็นไปได้ที่จะมีการพยายามทำรัฐประหารในระยะเริ่มแรก" ในชิลี ไม่กี่วันก่อนที่การยึดอำนาจโดยปิโนเชต์จะเกิดขึ้น
ทางการสหรัฐฯ ยอมรับว่า สหรัฐฯ เอง มีส่วนร่วมในปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่ออย่างลับๆ เพื่อโจมตีอาเยนเด ก่อนการเลือกตั้งของเขา นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังยอมรับว่าพวกเขาได้ให้เงินทุนแก่กลุ่มต่อต้านอาเยนเด ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอีกด้วย
“พูดโดยภาพกว้างแล้ว นโยบายของสหรัฐฯ พยายามเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอาเยนนเด เพื่อป้องกันการรวมตัวและจำกัดความสามารถในการดำเนินนโยบาย ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอีกซีกโลกหนึ่ง” รายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในปี 2518 ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความแน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรง ต่อการทำรัฐประหารของปิโนเชต์ในชิลีหรือไม่
ที่มา: