10 วันในการเก็บตัวผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2019 ที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล-สงขลา-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) ตั้งแต่ 29 มิถุนายนถึง 8 กรกฎาคม 2562 ถือเป็นช่วงเวลาที่แสนพิเศษของ 77 สาวงาม มิสแกรนด์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะพวกเธอได้ท่องเที่ยวทุกจุดแลนด์มาร์กสำคัญ ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ทะเลสาบฮาลาบาลา, ทะเลหมอก อำเภอเบตง, ชมการร่อนทอง ที่อำเภอสุคิริน, อุโมงค์ปิยะมิตร, สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้, เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว, และมัสยิดกลาง ฯลฯ ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และน้ำใจไมตรีจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่ความงดงามเหล่านี้กลับถูกฉาบไว้ด้วยภาพความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาหลายสิบปี จนทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ลับที่หลายคนไม่เคยเข้ามาถึง เช่นเดียวกับสาวงามอีกหลายคนที่การเก็บตัวนี้ เปิดประสบการณ์เที่ยวชายแดนภาคใต้ครั้งแรก
นางสาวอารยะ ศุภฤกษ์ หรือ โกโก้ มิสแกรนด์นครพนม เล่าให้ฟังมา เธอไม่เคยมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน และจากข่าวความไม่สงบที่ได้เห็นต่างสื่อต่างๆ ทำให้คนใกล้ตัวของเธอกังวล และแสดงความเป็นห่วงก่อนมาเก็บตัว แต่เมื่อมาถึงที่นี่ ความคิดของเธอก็เปลี่ยนไป เพราะที่นี่สะอาด และเป็นเมืองที่สงบ ผู้คนน่ารัก จนสามารถพูดได้ว่า ต้องมา ถ้าใครไม่มาก็จะไม่รู้ สิ่งที่เธอประทับใจมากที่สุดคืออาหารอร่อย ตั้งแต่มาเก็บตัวเธออ้วนขึ้นสามกิโลกรัมแล้ว ทำให้หนักใจในรอบประกวดชุดว่ายน้ำที่จะมาถึง
โกโก้พูดติดตลก ต่ออาหารที่ได้รับประทานว่า อาหารที่เธอชอบที่สุดคือ ไก่กอและ แกงส้มและแกงไตปลา ส่วนสถานที่ที่ประทับใจคือ ทะเลหมอก จังหวัดยะลา อากาศหนาวเหมือนอยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญบรรยากาศสะอาดสงบ “ใครที่มาแล้วบอกว่าไม่ปลอดภัย อันนั้นเป็นสิทธิ์ของคุณ แต่ถ้าคุณมาแล้วความคิดจะเปลี่ยน”
ด้านนางสาวนฤมล คำพันธ์ หรือ เจน มิสแกรนด์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกในการมาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกก็แอบกลัว ถึงขั้นบอกกับพ่อแม่ว่าสวดมนต์ให้เธอด้วย เพราะภาพจำของที่นี่ในความคิดของเธอมีแต่ด้านลบ เช่น ความรุนแรง แต่เมื่อมาถึง ทุกอย่างไม่ใช่อย่างที่คิด เธอสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากชาวบ้านที่มาดูแล จนทำให้เธอรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย อาหารหลายอย่างอร่อยมาก โดยเฉพาะ ผลไม้ เช่น ทุเรียนภูเขา และกล้วยหิน เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนเช้าเธอมักจะแอบหยิบกล้วยหินสัก 4-5 ผลจากห้องอาหารมาใส่กระเป๋า เอาไว้กินเพิ่มพลังระหว่างวัน นอกจากนี้ยังเปลี่ยนความคิดของเธอเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ที่เคยคิดว่า ภาคใต้คงจะมีแต่ทะเล แต่กลับมีทะเลหมอกที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี แถมยังมีชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ชนเผ่าซาไก และชุมชนร่องทอง ของหมู่บ้านภูเขาทอง อำเภอสุคิริน บอกเล่าว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ เพราะถ้าวันไหนโชคดีก็จะเจอทองก้อนใหญ่ ถึงกับพูดกับทีมข่าวว่า อนาคตก็อยากมาทำอาชีพร่อนทองที่นี่เพราะสนุกและน่าจะรวยเร็ว เธอกล่าวอมยิ้ม
เช่นเดียวกัน นางสาวชมพูนุท พึ่งผล หรือ ส้มโอ มิสแกรนด์พังงา ที่ยอมรับว่า ไม่กล้าที่จะมาเที่ยวที่นี่ พ่อแม่ก็เป็นห่วง แต่เมื่อมาถึงแล้วเหมือนได้เปิดมุมมอง ทันทีที่ถึงสนามบิน เธอสัมผัสได้ถึงรอยยิ้มที่จริงใจของชาวบ้านที่มาต้อนรับ และการมาของพวกเธอครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าที่นี่ไม่ได้น่ากลัว ตรงกันข้าม เป็นเมืองที่มีครบทุกอย่างทั้งอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งในอนาคตก็จะมีการสร้างสนามบินที่กำลังจะเกิดขึ้นที่อำเภอเบตง และสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้ที่จะสร้างอาชีพให้คนในชุมชน โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาของโปรดของเธอ เธอเล่าให้ฟังว่า นางงามทุกคนที่มาเก็บตัวพูดเหมือนกันว่าพวกเธอตัดสินอะไรจากภายนอกไม่ได้จริงๆ เพราะทุกคนที่นี่พร้อมจะหยิบยื่นน้ำใจ เหมือนที่มีใครเคยพูดว่า “ที่นี่ไม่ใช่พื้นที่สีแดง แต่เป็นพื้นที่สีชมพู” เธอสัญญาว่าจะเอาเรื่องราวที่ได้เจอที่นี่ไปบอกต่อให้กับคนอื่นๆ
ส่วน นางสาวทารีน่า โบเทส หรือ Thari สาวลูกครึ่งไทย-แอฟริกาใต้ มิสแกรนด์ภูเก็ต เล่าว่า ก่อนหน้ามาเก็บตัวสามสัปดาห์เธอและทีมงานมาที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อทำกิจกรรมโปรโมท ไม่ว่าจะเป็น อำเภอเบตง ยะลา, นราธิวาส และถนนศิลปะ ฯลฯ หลายคนบอกว่าที่นี่น่ากลัว แต่เธอไม่คิดแบบนั้น เธอสนุกกับการมาที่นี่ ผู้คนมีความสุขและมีรอยยิ้ม เธอและทีมงานอยากเป็นความคิดคนว่าแท้จริงแล้ว “The South is not the land of burst, but the land of love” เธอบอกว่าก่อนหน้านี้ก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบมาบ้างแต่ไม่ได้รู้สึกกลัว ตรงกันข้ามเธอตื่นเต้นที่จะได้มาที่นี่ เพราะเธอเป็นคนชอบท่องเที่ยว และเมื่อมาถึงทุกคนก็ตอนรับเธออย่างดีและไม่มีใครทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัว เธอชอบทะเล เธอชอบความแตกต่างที่หลายศาสนาอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า การยุติความรุนแรงในพื้นที่ตามความคิดของเธอ ต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังและกระตุ้นผู้คนตั้งแต่เล็ก ให้รู้จักความรัก ก็ไม่เกลียดชังกัน ซึ่งต้องเริ่มจากในครอบครัว ขณะที่เธอเอง หากได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์ 2019 ก็สามารถเป็รกะบอกเสียงและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวนเพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่ได้เช่นกัน
“ขอให้ทุกคนที่นี่เข้มแข็ง และเป็นเหมือนที่เคยเป็นมา เธอที่จะแสดงให้เห็นว่าที่มีความรักมากมาย ทุกอย่างจะดีขึ้นและขอให้ทุกคนช่วยกันเผยแพร่ทั่วโลกเห็นความสวยงามของที่นี่”
เธอยังเล่าว่าเธอชอบกินโรตีและแกงกะหรี่มาก แต่มันทำให้เธออ้วน ส่วนทุเรียน เธอไม่ชอบกลิ่นของมัน เธอเล่าเรื่องตลกให้ฟังว่า เพื่อนมิสแกรนด์ส่งขนมไหว้พระจันทร์ให้เธอ รับมาแต่ปรากฎว่ามันคือไส้ทุเรียน เธอรีบปฏิเสธในทันที แต่แม้ว่าเธอจะไม่ชอบ เธอก็ประทับใจในการกระบวนการปลูกและการเก็บทุเรียนของชาวบ้านที่นี่
ขณะที่ นางสาวรัตติยา สมหวัง หรือ เมย์ มิสแกรนด์ยะลา ในฐานะเจ้าบ้าน เปิดเผยว่า เธอโตและเรียนที่นี่ 21 ปีที่เธออยู่มา เธอเห็นความอุดมสมบูรณ์และรักบ้านเกิดของเธอมาก แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ คนที่นี่ก็รู้จักวิธีการที่จะปรับตัว แม้จะกลัวบ้าง แต่ไม่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ในการเก็บตัวครั้งนี้ มีเพื่อนนางงามหลายคนถามเธอถึงความปลอดภัย เธอยืนยันกับเพื่อนๆ ว่าปลอดภัยแน่นอน เพราะผู้คนที่นี่พร้อมต้อนรับและดูแลแขกที่มาเยือนเสมอมา
“ที่นี่เป็นบ้านเกิด อยู่ที่นี่มีความสุข ไม่มีที่ไหนมีความสุขที่นี่ หนูชอบทำสวน กรีดยาง ต่อให้ย้ายไปอยู่ในเมืองก็ไม่มีสิ่งแวดล้อมแบบนี้ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ แบบบ้านๆ”
เธอยังกล่าวเป็นภาษาเจ๊ะเห ว่า เวลาไปอยู่กรุงเทพฯ กับข้าวแปลกไป พอมาเก็บตัวที่บ้านได้กินกับข้าวที่คุ้น ได้แรงสุดๆ น้ำหนักขึ้นมาอีก 1 กิโลกรัม เธอยังเปิดใจอีกว่า ผู้คนที่นี่รู้สึกดีใจที่เห็นนางงามมาเก็บตัวที่นี่ เช่นเดียวกับความรู้สึกของเธอในสมัยเด็ก เวลามีดารานักร้องมาที่นี่เธอจะดีใจมาก พร้อมต้อนรับอย่างดี เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีคนดังหรือชาวต่างชาติมาเที่ยว เพราะกลัวความไม่สงบ แต่ในมุมของเธอ ถ้ามีดาราหรือนักร้องที่ชื่นชอบมาจะงานกาชาด งานอะไร มีระเบิดก็ไม่กลัว ไปหมด เธอกล่าวไปยิ้มไป
เรื่องราวความประทับใจของพวกเธอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับความงดงามของธรรมชาติและมิตรภาพของผู้คนที่นี่ จะถูกเผยแพร่ผ่านวีทีอาร์การประกวดในรอบสุดท้ายวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา และผู้ชนะเลิศจะได้ครองมงกุฎที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอกลักษณ์สำคัญของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งลวดลายของผ้าปาเต๊ะ และยอดมงกุฎที่ประยุกต์มาจากดีไซน์ของมัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี