ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ภาพใบหน้าคนแก่ได้กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ภาพดังกล่าวมาจากแอปพลิเคชัน 'FaceApp' สตาร์ทอัปสัญชาติรัสเซียเป็นเจ้าของ ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกจากระบบกูเกิลเพลย์ ขณะที่ในแอปสโตร์ก็กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ติดท็อปใน 121 ทั่วโลก
FaceApp เป็นแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้อัพโหลดรูปภาพของตนเอง และใช้ระบบเอไอในการประมวลผลเพื่อเปลี่ยนใบหน้าในรูปนั้นเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้รูปภาพที่อัปโหลดขึ้นไปจะถูกเก็บไปยังระบบคลาวด์ของแอปฯ
กระแสของแอปดังกล่าวทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โจชัว นอซซี่ นักพัฒนาโปรแกรมออกมาเตือนถึงเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ FaceApp โดยกล่าวว่า ระบบของ FaceApp นั้นสามารถเข้าถึงรูปภาพในมือถือของทุกคนได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของเครื่อง ไม่ว่าคุณจะเลือกเงื่อนไขการยินยอมเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ก็ตาม ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำไปสู่ความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
(เงื่อนไขการใช้งานแอปพลิชันผ่านเครื่องมือต่างๆ)
ข้อความจากแอปพลิเคชันตอนหนึ่งระบุว่า ทางแอปฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลจากมือถือ หรือแท็บเล็ตที่เข้าผ่านแอปฯ ดังกล่าวนี้ทั้งการติดตาม การเก็บข้อมูลจากเครื่องของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังระบุว่าทางแอปฯ อาจจะส่งข้อมูลของผู้ใช้ไปยังบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องกับการใช้ค้นหาและการใช้งานของผู้ใช้ รวมไปถึงการส่งข้อมูลเนื้อหาส่วนตัวและโฆษณาต่างๆ ของผู้ใช้งาน
(เงื่อนไขการใช้งานและสิทธิการเข้าถึงของแอปพลิเคชัน)
ทางแอปพลิเคชันยังระบุถึงเงื่อนไขการเข้าถึงรูปภาพของผู้ใช้งานผ่านแอปฯ นี้จะกลายเป็นสิทธิของทางแอปฯ ที่จะสามารถนำไปใช้งานต่อได้ตลอดไป
ทั้งนี้ทางแอปพลิเคชัน FaceApp ได้ออกมาปฏิเสธถึงการเข้าถึงรูปภาพส่วนตัวและข้อมูลของผู้ใช้งานโดยระบุว่า รูปภาพส่วนใหญ่จะถูกลบจากเซิฟเวอร์ของแอปฯ ภายใน 48 ชั่วโมง และข้อมูลของผู้ใช้งานนั้นไม่ได้ถูกส่งไปยังรัสเซียอย่างที่หลายคนกังวล แม้ว่าทีมวิจัยและพัฒนาโปรแกรมนั้นจะอยู่ที่ประเทศรัสเซียก็ตาม
ทางด้าน 'ยารอสลาฟ กอนชารอฟ' เจ้าของแอปพลิเคชันตัวนี้กล่าวกับ techcrunch ว่า ทางบริษัทใช้ระบบคลาวด์ของ AWS and Google Cloud ซึ่งมีเซิฟเวอร์อยู่นอกรัสเซีย และยังยืนยันอีกว่า ทางแอปฯ ไม่มีการขยายข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับบริษัทที่ 3 แต่อย่างใด
ขณะที่ 'ชัค สครูเมอร์' วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (FBI) และคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ (FCT) โดยระบุถึงความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยจากที่ตั้งของบริษัทที่อยู่ในกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก และการขอข้อมูลของผู้ใช้งานในการขอเข้าถึงโทรศัพท์ส่วนตัวและข้อมูลที่เชื่อมตัวกับแอปพลิเคชัน และยังเรียกร้องให้ FBI เข้าตรวจสอบข้อมูลของชาวอเมริกันว่าอาจจะตกอยู่ในมือของรัฐบาลรัสเซีย
นอกจากนี้สครูเมอร์ยังเรียกร้องให้ FCT ตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวนั้นมีการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเพียงพอหรือไม่
ความกังวลเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน กรณีของ FaceApp ไม่ได้เป็นกรณีแรกที่สร้างความกังวลและความตระหนกให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมาเฟซบุ๊กได้เผชิญกับข้อหาการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอนุญาต หลังจากที่บริษัท Cambridge Analytica ทำแบบสอบถามผ่านฟีจเจอร์ของเฟซบุ๊กและนำข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้ามาทำแบบสอบถามส่งต่อให้กับบุคคลที่สามและถูกนำไปใช้ในทางการเมืองโดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน และล่าสุด FCT มีมติสั่งปรับเฟซบุ๊กเป็นเงินจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับคดีดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง