ไม่พบผลการค้นหา
เอาใจคนรักงานออกแบบ และผู้หลงรักผลิตภัณฑ์จากแดนอาทิตย์อุทัย กับนิทรรศการ ‘ออกแบบ แบบญี่ปุ่น’ หรือ Japanese Design Today 100 นิทรรศการสัญจรที่ออกเดินทางไปอวดฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นสู่สายตาคนทั่วโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

นิทรรศการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างเจแปนด์ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ​ (JFbkk) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์​ (CEA) ซึ่งจัดขึ้นที่ อาคารไปรษณีย์กลาง (ส่วนหลัง) ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน - 26 พฤษภาคม 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 10.30 - 21.00 น. 

ผู้ชมจะได้พบกับผลิตภัณฑ์จากฝีมือของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจำนวน 100 ชิ้น แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงจำนวน 89 ชิ้น ในขณะที่อีก 11 ชิ้นเป็นภาพถ่าย โดยชิ้นงานทั้งหมดบ่งบอกลักษณะการออกแบบตามสไตล์แดนซามูไร ซึ่งให้ความสำคัญทั้งรูปลักษณ์ และการใช้งานจริง จนทรงอิทธิพลไปทั่วโลกอย่างชัดเจน 

ผลงานทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจากภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่นจำนวน 4 คน ได้แก่ ฮิโรชิ คาชิวางิ และ มาซาฟูมิ ฟูคากาวะ ที่ให้ความสำคัญกับผลงานที่เป็นตัวแทนของ วิถีชีวิต มุมมอง และวัฒนธรรมของผู้ใช้ในสังคมร่วมสมัย ขณะที่ โนริโกะ คาวากามิ และ ชู ฮางิวาระ คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ชูจุดแข็งของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ในการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญา และช่างฝีมือท้องถิ่น

แม้ผลิตภัณฑ์บางชิ้นจะเป็นผลงานที่มีอายุกว่า 60 ปี แต่ก็ยังคงความร่วมสมัย และใช้งานได้จนปัจจุบัน ทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส ของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบบอกว่า เนื่องจากดีไซเนอร์มักจะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องคือ

  1. ความใส่ใจ คำนึงถึงสภาพแวดล้อมและการใช้งานว่าควรจะเป็นอย่างไร
  2. ความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องใช้งานได้ดีที่สุด
  3. การเชื่อมต่อ สามารถใช้งานได้จริงในโลกภายนอก

" 3 สิ่งนี้ทำให้งานออกแบบของประเทศญี่ปุ่นไปได้ไกล และทรงอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ ความร่วมสมัยของพวกเขาคือการไม่ทิ้งว่าชีวิตเดิมเคยเป็นมาอย่างไร และปัจจุบันเป็นอย่างไร" ทรงวาดกล่าวถึงผลงานในอดีตที่ใช้งานได้ดีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในบรรดาผลงานทั้งหมด 100 ชิ้น Voice On Being หยิบชิ้นงานทั้งคุ้น และไม่คุ้นตา แต่น่าสนใจมาให้ดูเป็นการเรียกน้ำย่อย ดังนี้

kikkoman.jpg

Kikkoman Soy Sauce Dispenser 150 ml bottle, 1961 : Kenji Ekuan ขวดโชยุขนาดเหมาะมือในตำนานที่คงความร่วมสมัยมาถึง 58 ปี ซึ่งเป็นขวดบรรจุซอสถั่วเหลืองชิ้นแรก ที่ออกแบบให้เทซอสได้ทันทีโดยไม่ต้องเปิดฝา

ตัววัดอุณหภูมิ.jpg

Cupmen 1 Hold on, 2009 : Akira Mabuchi อุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มาในรูปแบบของตุ๊กตาหุ่นคน และจะเปลี่ยนสีในเวลาที่อุณภูมิเปลี่ยน ซึ่งภัณฑารักษ์อาวุโสบอกว่า ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนญี่ปุ่นออกแบบเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และดีขึ้น

เสื้อโค้ตช่วยชีวิต.jpg

Final Home “HOME 1”, 1994 : Kosuke Tsumura เสื้อโค้ตช่วยชีวิต นอกจากป้องกันความหนาวเย็นตามหน้าที่ปกติแล้ว ยังเต็มไปด้วยช่องเก็บของจำนวนมากสำหรับเก็บของใช้จำเป็นในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ 

Mt1.jpg

mt-Masking Tape, 2008 : Koji Lyama Masking Tape ที่ใช้ในวงการออกแบบมาอย่างยาวนาน เป็นเทปกาวจากกระดาษญี่ปุ่น มีคุณสมบัติทนทาน แต่บางและสามารถลอกออกได้ง่าย ไม่ทำให้เนื้อกระดาษติดออกมาด้วย

ไม่เพียงแต่ความสวยงามเท่านั้นเพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเปรียบได้กับแบบเรียนประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ บอกว่า ประเทศญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบมาอย่างยาวนาน เขาอยากให้คนไทยได้รู้จักประวัติศาสตร์ในการออกแบบของญี่ปุ่นต้องแต่ปี 1950 จนถึงปัจจุบัน

“การรับรู้ประวัติศาสตร์ของการออกแบบ ก็เหมือนเพิ่มความรู้ให้กับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คนในสังคม จริงๆ แล้วการออกแบบไม่ได้มีแต่ความสวยงาม เพราะดีไซเนอร์คิดว่าจะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยการออกแบบได้อย่างไร” โนริฮิโกะทิ้งท้ายพร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่ทำงานด้านการออกแบบและประชาชนทั่วไปที่สนใจเดินทางมาเยี่ยมชม

สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เตรียมพบกับนิทรรศการ ‘ออกแบบ แบบญี่ปุ่น’ ได้ที่ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 8 - 30 มิถุนายม พ.ศ. 2562 และหอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 12 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 

On Being
198Article
0Video
0Blog