ไม่พบผลการค้นหา
'วีระ' ฉุน ป.ป.ช. คาดดำ-แจกกระดาษเปล่า ผลสอบนาฬิกาหรู “ประวิตร” อ้างยึดหลักคุ้มครองพยานฟังไม่ขึ้น ลั่นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องติดคุก

เวลา 13.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน(คปต.) เดินทางเข้าพบ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอรับเอกสารจำนวน 3 รายการ ในคดีที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คดีนาฬิกาหรูจำนวน 22 เรือน ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้ ป.ป.ช. ต้องให้เอกสารทั้ง 3 รายการดังกล่าวแก่ วีระ อย่างถูกต้องและครบถ้วน ภายในวันที่ 11 ส.ค. 2566 

โดย วีระ ได้นำเอกสารจาก ป.ป.ช. จำนวน 2 รายการ มาแสดงต่อสื่อมวลชน ประกอบด้วย 1.รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ 2.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเอกสารที่ป.ป.ช. นำมาให้วันนี้ไม่ครบตามจำนวน เพราะก่อนหน้านี้นายวีระ ได้ขอเอกสารไป 3 รายการ ตอนนี้ที่ยังเหลืออยู่คือ เอกสารรายการที่ 2 ได้แก่ ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดย ป.ป.ช. ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยรายการนี้ได้เพราะต้องยึดหลักในการคุ้มครองพยานในคดี

โดยเอกสารที่ได้รับในวันนี้ทั้ง 2 รายการ พบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ในรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ พบข้อความคาดดำ และมีการปกปิดข้อความหลายจุด เช่น ส่วนที่ปรากฏชื่อ ที่อยู่ และรายการทรัพย์สิน อ้างว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ อีกทั้งในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีการปกปิดข้อมูล ซึ่งให้มาเป็นเอกสารเปล่าตั้งแต่หน้า 48-86 โดยเลขา ป.ป.ช. อ้างว่า เป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้เอกสารมาแบบนี้

วีระ ยังระบุด้วยว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เปิดเผยข้อมูลตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลได้มีคำสั่งต่อเรื่องนี้แล้ว แต่ ป.ป.ช. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว พอให้เอกสารมาก็ให้ไม่ครบ และไม่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือ ตัวเองต้องการมาดูว่าการรวบรวมข้อมูลของ ป.ป.ช. มีหลักฐานและเหตุผลใดที่จะมาหักล้างคำกล่าวหาของตนเอง ซึ่งตัวเองเชื่อว่า ข้อมูลส่วนนั้นจะเป็นประโยชน์ เพราะตอนนี้ประชาชนหลายคนไม่เชื่อว่าพลเอกประวิตรไปยืมนาฬิกามาจากเพื่อน 

ส่วนกรณีที่รายการที่ 2 ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ วีระ บอกว่า กรณีนี้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้แล้ว ว่าการเปิดเผยข้อมูล ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย และกรณีดังกล่าวมีการต่อสู้กันตั้งแต่ชั้นสำนักงานข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสำนักงานข้อมูลข่าวสารบอกว่าสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการทำงานของ ป.ป.ช. นายวีระยังกล่าวย้ำว่า

“ถ้าคุณทำงานโปร่งใสก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ ป.ป.ช. กลัวคนทั้งประเทศจะรู้ความจริง ว่าการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่โปร่งใส และจะทำให้ได้เห็นความเห็นของพนักงาน ป.ป.ช. ว่ามีความเห็นอย่างไร และการที่ ป.ป.ช. ทำแบบนี้กับตัวเองเรื่องจะไม่จบ”

ทั้งนี้ หลังจากนี้ วีระ จะนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้แก่ศาลปกครองสูงสุด เพื่อแจ้งให้ศาลทราบว่า ป.ป.ช. ปฏิบัติขัดคำสั่งศาล ในกรณีที่ ป.ป.ช. ส่งมอบข้อมูลไม่ครบถ้วน พร้อมบอกว่า เลขาธิการและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีมติไม่ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจะต้องติดคุก

เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ วีระ บอกว่า ขออย่าเอาเรื่องนี้มาเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากกรอบระยะเวลาต่างๆ ศาลจะเป็นคนกำหนด และเป็นไปตามกระบวนการทำงานของศาล


เลขา ป.ป.ช. ยันทำตามกม. ยึดมั่นหลักคุ้มครองพยาน

ต่อมาเวลา 15.40 น. นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ต่อกรณีที่ วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน(คปต.) เดินทางเข้าพบเพื่อขอรับเอกสารจำนวน 3 รายการ ในคดีที่มีการกล่าวหาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีการปกปิดข้อมูลเรื่องนาฬิกาหรูราคาแพงจำนวน 22 เรือน 

นิวัติไชย ระบุถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารรายการที่ 2 ซึ่งก็คือความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ เพราะทาง ป.ป.ช ต้องยึดหลักการ เพราะหากเปิดเผยข้อมูลไปจะกระทบต่อคดีอื่นอีกหลายสำนวน เพราะอาจจะมีผู้ที่ขอให้เปิดความเห็นของพนักงาน ป.ป.ช. ในคดีอื่น ถือเป็นการยึดหลักความปลอดภัยในการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ล่าสุด ป.ป.ช. ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่าไม่พิจารณาใหม่ ทาง ป.ป.ช. จึงยื่นเพื่อขออุทธรณ์อีกครั้ง และระหว่างที่รอการอุทธรณ์ของศาล จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถมอบเอกสารรายการที่ 2 ให้ วีระได้

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นขอทุเลาการบังคับค่าปรับในคดีดังกล่าว ระหว่างรอการอุทธรณ์ ส่วนการคาดดำเอกสาร เป็นการปกปิดรายชื่อพยาน เพราะหากเปิดรายชื่อพยาน จะไม่มีใครกล้าเข้ามาเป็นชี้ช่องเบาะแสให้ ป.ป.ช. อีก เรื่องนี้ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 63 ในการส่งเสริมคุ้มครองพยาน อีกทั้ง ใน พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช. ก็ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกันว่า จะต้องคุ้มครองพยาน ป.ป.ช. จึงต้องยึดมั่นในการคุ้มครองพยาน แต่หากศาลมีคำพิพากษาอย่างไร ป.ป.ช. ก็ต้องปฏิบัติตาม

และหากดู พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร สำนวนในคดีอาญา หรือในกระบวนการยุติธรรมจะได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องเปิดเผย และไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร ก็จะต้องนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจในการสั่งเปิดเผยข้อมูลต่อไป

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ ป.ป.ช. ยอมรับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงตนเองถูกฟ้องร้องหลายคดี ในเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. ยึดไปตามหลักการและกฎหมาย