ไม่พบผลการค้นหา
พะยูนมาเรียม อาการดีขึ้น สามารถกินอาหารได้ การหายใจปกติดี มีการตอบสนองต่อยาต้านเชื้อ ด้าน ทช. วางแผนเคลื่อนย้ายมาเรียมกรณีฉุกเฉินทั้งทางรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์

วานนี้ (12 ส.ค.) เฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้อัพเดตอาการของ "มาเรียม" พบว่า มาเรียมแข็งแรงมากขึ้น ทีมสัตวแพทย์ให้สารอาหาร multi vitamin gel ประมาณ 40 มล. (ให้พลังงานประมาณ 250 Kcal) ร่วมกับกลูโคส และเกลือแร่ พบการหายใจปกติ มีกลิ่นลดลง อัตราการหายใจ 2-6 ครั้งใน 5 นาที อัตราการเต้นของหัวใจ 114 ครั้งต่อนาที พยายามทำการเจาะเลือด แต่ยังไม่สามารถจับบังคับได้ และให้สารน้ำผ่านการสวนทวาร มาเรียม มีการตอบสนองในทางที่ดีต่อยาต้านเชื้อ เริ่มมีความอยากกินอาหาร กินหญ้าเองได้บ้าง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง แสดงว่ามีอาการดีขึ้น กลั้นหายใจได้นานขึ้น สามารถดำน้ำได้ดี ว่ายน้ำได้ดี

ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงแผนรองรับเคลื่อนย้ายพะยูนมาเรียมเพื่อมารักษาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต หลังมาเรียมมีอาการเครียดว่า ทีมสัตวแพทย์ได้พบอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยนำตัวขึ้นมารักษาในบ่ออนุบาลชั่วคราวที่เขาบาตูและต้องรอดูหลังให้ยาปฏิชีวนะภายใน 3 วันจะอาการดีขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ความพร้อมรถฉุกเฉินช่วยเหลือสัตว์ทะเลไว้บนฝั่งหากต้องย้ายมาเรียมลงเรือจากเกาะลิบงมาขึ้นรถและมาที่ศูนย์ฯ ภูเก็ตจะใช้เวลา 6 ชั่วโมง

ส่วนแผนที่ 2 หากเคลื่อนทางเฮลิคอปเตอร์ที่จอดรอบริเวณบ้านบาตูปูเต๊ะจะใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงแล้วมาลงที่ฐานทัพเรือภาค 3 พังงาและขนมาต่อที่ภูเก็ตอีกไม่เกิน 5-10 นาที แต่ทางเลือกทั้งหมดต้องพิจารณาจากอาการของมาเรียมก่อนว่าแข็งแรงพอที่จะเคลื่อนย้ายได้หรือไม่

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่ญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์เคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลหายากทางอากาศสามารถทำได้ ส่วนการขนทางรถฉุกเฉินทำได้เช่นกัน แต่มาเรียมมีอาการติดเชื้อและหายใจลำบากเพราะหัวใจเต้นเร็ว 140 ครั้งต่อนาที หากเดินทางนานหลายชั่วโมงจะมีภาวะเครียดและจะมีน้ำหนักกดทับในระหว่างเคลื่อนย้ายเนื่องจากไม่ได้อยู่ในน้ำจึงต้องระวังการเคลื่อนย้าย

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า มาเรียมถูกพะยูนนอกอ่าวไล่ล่าจนตกใจว่ายน้ำหนีกลับเข้ามาในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ดูแล เป็นเหตุให้เกิดอาการช็อก หัวใจหยุดเต้น ติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ยอมกินอาหารนั้น มีเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ให้การดูแลมาเรียมอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง