วันที่ 16 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม. ) ได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปคม. ว่า ได้มีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าการต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อสภาคองเกรซสหรัฐอเมริกา (Report to Congress on 2022 Trafficking in Persons Interim Assessment Pursuant to the Trafficking Victims Protection Act) โดยสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ J/TIP Office เป็นที่เรียบแล้ว
รวมถึงได้กำชับเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนงานให้ความก้าวหน้ายกระดับมาตรฐานสู่สากล และให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ตามวงรอบของการประเมินผลจัดลำดับเทียร์ในรายงานประจำปี 2565 เพื่อให้ไทยกลับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ให้ได้ตามเป้าหมาย
ตามรายงาน 2022 TIP Interim Assessment สหรัฐอเมริการจัดทำเฉพาะ 45 ประเทศ ที่ถูกจัดอันดับในกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าจับตามอง ในปี 2564 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น มีประเด็นความก้าวหน้าที่ถูกหยิบยกขึ้น เป็นภาพบวก 3 เรื่อง ได้แก่
(1) การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการคัดกรองเบื้องต้นจนถึงการคัดแยกเพื่อระบุตัวผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ
(2) การออกกฎกระทรวงแรงงานให้ใช้สัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว
(3) การยกระดับฝ่ายศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ขึ้นเป็น สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานถาวรเทียบเท่ากอง
ข้อท้าทายในรายงานฉบับนี้ มี 3 เรื่อง ได้แก่
(1) การทำขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการคัดกรอง คัดแยก และส่งต่อดำเนินคดี ในข้อหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ
(2) การขยายระยะเวลาในการคัดแยกผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เข้าถึงบริการของรัฐ มีเวลาเพียงพอที่จะรับการฟื้นฟูไตร่ตรอง และบอกเล่าความจริงในระหว่างการคัดกรองและคัดแยก
(3) การจัดให้ความช่วยเหลือบริการของรัฐแก่ผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์เข้าร่วมกระบวนการสืบสวนคดี
นอกจากนี้ได้รับทราบความก้าวหน้าในการจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยได้มอบสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพ ทั้งในด้านการปรับปรุงอาคารสถานที่ และระบบเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับห้องซักถามและเฝ้าฟัง
ในการนี้ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนงบประมาณ และจัดทีมงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2565 การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน
"เมื่อศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจัดตั้งแล้วเสร็จ มีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จะได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมูลนิธิ IJM และโครงการ ASEAN ACT จะทำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลในภูมิภาคนี้" สุชาติกล่าว
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าได้ดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร โดยสั่งการให้ กระทรวง ดิจิทัลฯสนับสนุนการพัฒนาระบบเฝ้าฟังการซักถามสัมภาษณ์ และจัดการฐานข้อมูลสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เข้ารับบริการจนเสร็จสิ้นกระบวนการคัดแยกและดำเนินคดีโดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยได้รับรายงานว่ามีความก้าวหน้าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว