ไม่พบผลการค้นหา
5 มีนาคม ถูกสถาปนาให้เป็น 'วันนักข่าว' ของไทยมาตั้งแต่ปี 2510 เหตุเพราะประเทศไทยเริ่มมี 'สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย' ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้ 23 ปี
  • ในทศวรรษ 2490 นอกจากความคึกคักของหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีนิตยสารเกิดขึ้นมากมาย เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (2499) สกุลไทย (2497) สตรีสาร (2490) ฯลฯ ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิดของคนรุ่นต่อรุ่น
  • ล่วงเลยมาถึงปี 2565 Freedom House เปิดเผยการจัดทำดัชนีเสรีภาพประจำปี จัดหมวดหมู่ให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ไม่เสรี’ (not free) มีคะแนนสิทธิพลเมือง 5 เต็ม 40 คะแนน 
  • ความขาดแคลนเสรีภาพในการคิด พูด เขียน เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนล้วนต่อสู้มาทุกยุคสมัย ไม่เว้นแม้แต่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจยิ่งคือ 'ก.ศ.ร.กุหลาบ' นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์หัวแข็งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเพี้ยน นักเล่านิทาน นักแต่งเรื่อง ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 
  • ชนชั้นนำถึงกับเอาชื่อของเขามาล้อ โดยทำให้ชื่อหน้าของกุหลาบคือคำว่า ‘กุ’ มีความหมายถึงการแต่งเรื่อง ซึ่งเป็นความหมายที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน แต่หนังสือ ‘แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร.กุหลาบแห่งกรุงสยาม’ โดยบุญพิสิฐ ศรีหงส์ รวบรวมหลักฐานต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นประวัติ ก.ศ.ร.กุหลาบมุมใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้นักข่าวยุคปัจจุบัน
ก.ศ.ร.กุหลาบ
  • คำว่า ก.ศ.ร.มาจากชื่อสมัยบวชที่ได้สมญาว่า เกศโร นั่นเอง กุหลาบเกิดในยุค ร.3 ศึกษาเล่าเรียนและทำงานกับชาวต่างชาติรวมทั้งมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศในยุค ร.4 และเริ่มแสดงภูมิความรู้ของตนต่อสาธารณะในยุค ร.5 เขามีองค์ความรู้แบบตะวันตก ขณะที่ก็ศึกษาและเชี่ยวชาญพงศาวดารสยามเช่นกัน 
  • ต้องเข้าใจว่า ในยุคนั้นองค์ความรู้ต่างๆ ยังไม่นิ่ง ชนชั้นนำสยามนำขนบองค์ความรู้และแบบแผนธรรมเนียมสมัยอยุธยาอันเป็นรากฐานเดิมมาใช้ในการสร้างสังคมสยามใหม่ โดย ‘เรียบเรียงและชำระ’ กันเอง ผนวกรวมกับองค์ความรู้ในพระไตรปิฎกและสังคมตะวันออกอื่นๆ แต่พลวัตขององค์ความรู้ที่ดูเหมือนจะเสร็จสิ้นในยุค ร.3 ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ชนชั้นนำเริ่มมีการ ‘เปิดรับ’ องค์ความรู้จากตะวันตก และเกิดการปะทะสังสรรค์กันอลหม่านพอควร ดังจะเห็นได้จากทัศนะวิพากษ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับพุทธศาสนาขยายตัวออกสู่วงกว้าง และพัวพันปัญหาอื่นๆ ของสยามด้วย 
  • ก.ศ.ร.กุหลาบ มีบทบาทเขย่าและขยายความรู้ วิวาทะ ต่อเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาพงศาวดารกรุงเก่าควบคู่ไปกับส่วนที่คนต่างประเทศบันทึกไว้ และด้วยเหตุที่ชอบไปวุ่นวายกับประวัติศาสตร์ทำให้เขียนประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา เจ้านายต่างๆ ในเวอร์ชั่นที่ชนชั้นนำเห็นว่าผิดเพี้ยน และเคยโดน ร.5 ลงโทษให้จับกุหลาบไปขังที่โรงพยาบาลคนเสียจริต 'จนกว่าจะสิ้นพยศ' เขาโดนขังอยู่ 33 วันก่อนขอพระราชทานอภัยโทษสำเร็จ
  • นอกจากจะมีทัศนะวิพากษ์ธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นนำ กฎหมาย ข้าราชการ ยิ่งกว่านั้นยังวิพากษ์พุทธศาสนา โดยหวังให้ชาวพุทธยึดปรัชญาบริสุทธิ์ของศาสนาที่มีความเป็นเหตุเป็นผล แยกแยะไสยศาสตร์และธรรมเนียมแบบพราหมณ์ที่แบ่งแยกลำดับสถานะบุคคล
  • บทบาทที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การเป็นบรรณาธิการฝ่ายไทยของหนังสือพิมพ์ ‘ออบเซอร์เวอร์’ ยาวนานถึง 5 ปี จากนั้นทำหนังสือข่าวรายเดือนรายปักษ์ชื่อ ‘สยามประเภท’ อีกราว 10 ปี
  • เนื้อหาของ นสพ.สยามออบเซอร์เวอร์ ภาคภาษาไทยเป็นข่าวสารเรื่องของสยามในปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ยาฝิ่น การพนัน การเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ไปจนถึงการปกครอง โดยจะเขียนข่าวแบบเพิ่มข้อมูลประวัติความเป็นมา ที่มาของเรื่อง และบางครั้งผนวกไปกับข้อวิจารณ์ด้วย
  • ที่สำคัญยิ่งคือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านส่งความเห็นมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มีทั้งคนชั้นสูง ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปทั้งในเมืองและตามหัวเมืองต่างๆ สยามออบเซอร์เวอร์ จึงมีสภาพเหมือนเวทีหรือสถานที่ชุมนุมเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของราษฎรต่อสาธารณะ (Public Opinion) จนถึงกับได้รับสมญานามในหมู่ผู้อ่านว่าเป็น หนังสือ ‘มอนิ่งโปลิสติก’ (Morning Politics)
  • งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในหนังสือพิมพ์ ก็เป็นที่นิยมและมีอิทธิพลต่อความคิดผู้อ่านมาก โดยเขาจะเขียนคล้ายคอลัมน์ ‘เมื่อไรหนอ’ ที่จะเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ และเปิดโอกาสให้คนอ่านมาร่วมแจมด้วย เช่นมีตอนหนึ่งว่าด้วย “เมื่อไรหนอ จะมีปาลีเมนต์ในกรุงสยาม”
  • ข้อเขียนของก.ศ.ร.กุหลาบนั้นชนชั้นสูงก็อ่านด้วย รัชกาลที่ 6 ในสมัยที่ยังเป็นสยามมกุฏราชกุมาร ถึงกับเคยตอบโต้งานเขียน ‘เมื่อไรหนอ จะมีปาลีเมนต์ในกรุงสยาม’ ด้วยการพระราชนิพนธ์เรื่อง รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม และยกตัวอย่างว่า ข้อเขียนจับใจพระองค์ที่สุดคือข้อคำถามว่า ‘เมื่อไรหนอเราจะมีปาลิเมนต์’ โดยวิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบ ตลอดจนเทียนวรรณว่าฟุ้งซ่าน พร้อมแสดงพระราชดำริถึงความไม่เหมาะสมที่จะเกิดขึ้นจากการปกครองโดยรัฐสภา
  • งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบในหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองของสยาม มีลักษณะเด่น 2 ประการคือ 1. ทัศนะวิจารณ์การบริหารราชการ เป็นการแสดงให้ผู้อ่านเข้าใจว่าราษฎรผู้อยู่ใต้การปกครองมีความสามารถที่จะร่วมบริหารปกครองโดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนได้ 2. ทัศนะวิจารณ์โครงสร้างระบอบการเมือง ซึ่งมักกล่าวถึงโครงสร้างการเมืองตามแบบแผนตะวันตกที่ควรนำมาปรับใช้กับสังคมไทย
  • เสนาบดีผู้ใหญ่หลายคนไม่ชอบกุหลาบ บางคนวิจารณ์การเขียนข่าวในสยามออบเซอร์เวอร์ว่า “ด่าว่าตบหัวลูบหลัง ทำทีเปนช่วยเตือน แต่ใช้ถ้อยคำต่ำช้า เปนการรบ หยาบคายเหมือนภาษาเสียงควายที่ทุ่งแสนแสบ พระองค์ท่านได้ทรงอ่านแล้วรับสั่งว่าแสบพระโสตรแทนนัก….” แต่ออบเซอร์เวอร์ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ภายใน 2 ปี สามารถขยายจากรายวัน เป็นการทำรายสัปดาห์ได้ภายใน 2 ปี โดยไม่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณา
  • ก่อนมีสยามออบเซอร์เวอร์และสยามประเภทของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ย้อนไปนานกว่านั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ทำนองนี้มาก่อนแล้ว เช่น หนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ Bangkok Recorder ของหมอบรัดเลย์ในสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังสืบทอดรูปแบบการนำเสนอแบบ Bangkok Recorder คือ เปิดเล่มด้วยสาระทางวิทยาการหรือประวัติศาสตร์การเมือง ตามด้วยข่าวสารโลกตะวันตก โลกตะวันออก แล้วจบด้วยเรื่องในสยาม แต่สยามไสมยโดดเด่นเรื่องการวิพากษ์แบบแผนทางกฎหมายและธรรมเนียมทางสังคมที่ขาดความเป็นธรรม ‘สำนึกใหม่’ ของชนชั้นไพร่เริ่มก่อตัวชัดเจน ดูจากจดหมายของผู้อ่านที่ส่งมา 
  • นอกจากทำหนังสือพิมพ์ ก.ศ.ร.ยังศึกษาพงศาวดารจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับทั้งของไทยและที่เขียนโดยชาวต่างประเทศ ประวัติบุคคล ทำหนังสือที่ระลึกงานศพหลายเล่ม รวมทั้งทำสิ่งที่อาจเรียกง่ายๆ ในยุคนี้ว่า ห้องสมุดประชาชนด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้ามากในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • เมื่อกุหลาบเสียชีวิตในวัย 87 ปี ยังปรากฏงานนิพนธ์ของเขาเผยแพร่จำหน่ายเรื่อยมา จนกระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับ ก.ศ.ร.กุหลาบและทรงกล่าวถึงเรื่องเก็บหนังสือของ ก.ศ.ร.กุหลาบไว้ใน ‘ตู้หนังสือกุ’ ที่หอสมุดสำหรับพระนคร มิให้ผู้ใดอ่าน งานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเป็นหนังสือต้องห้าม การแพร่หลายจึงลดลง แต่ดูเหมือนบทบาทและแนวคิดของ ก.ศ.ร.กุหลาบยังเคลื่อนไหวไปในรอยต่อองค์ความรู้ของชาวสยามร่วมสมัยที่สืบต่อมาในหมู่นักปฏิบัติประชาธิปไตยนับตั้งแต่สมัย ร.6 มาจนถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
  • ปรีดี พนมยงค์ เคยอธิบายความเป็นมาของการเคลื่อนไหวอภิวัฒน์ประชาธิปไตยไว้ว่า

“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัยเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่าน และได้พบคนธรรมดาสามัญที่อายุชราแล้ว 2 คน คือ ก.ส.ร.กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร ‘สยามประเภท’ ที่แคะไค้ระบอบการปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบ ก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ ‘เทียนวรรณ’ ซึ่งมีฉายาว่า ‘วรรณโภ’ ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่ามีอายุเกือบ 70 ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งกับสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะคำพังเพยโบราณว่า ‘กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้’ ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุก ได้กล่าววลีเติมอีกเป็นดั่งนี้ ‘กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบอบสมบูรณาฯ”