'ค่าแรงขั้นต่ำ' จะมีการพิจารณากันทุกปลายปี โดยกฎหมายแรงงานกำหนดให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เคาะตัวเลข คือ คณะกรรมการค้าจ้าง หรือ 'บอร์ดไตรภาคี' ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ-แรงงาน-นายจ้าง
บอร์ดไตรภาคีจะประชุมกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกันทุกช่วงปลายปี โดยปลายปี 2566 นี้ เพิ่งจะมีข่าวว่าบอร์ดเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท (แล้วแต่พื้นที่) หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 2.37%
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตัวเลขนี้ยังไม่เข้าตาฝ่ายบริหาร นายกฯ เศรษฐามองว่าน่าจะเป็นการปรับที่ต่ำไป และเจ้ากระทรวงแรงงาน-พิพัฒน์ รัชกิจประการ ก็เห็นด้วยจึงดึงออกจากวาระการประชุมครม.เมื่อ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อจะนำไปขอให้บอร์ดไตรภาคีลองทบทวนใหม่ ขณะที่เสียงสะท้อนจากบอร์ดทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ต่างประสานเป็น 'เสียงเดียวกัน' ว่าที่เคาะไปนั้นคำนวณมาดี เหมาะสมแล้ว
กลไกบอร์ดไตรภาคีนั้นมีมานานแล้ว ตามกฎหมายกำหนดให้บอร์ดนี้เป็นคนคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในแต่ละปี แต่บางปีก็ไม่มีการปรับเพิ่ม
Rocket Media Lab เคยทำการรวบรวมการขึ้นค่าแรงในประเทศไทย พบว่า
ในอดีตบอร์ดมักจะพิจารณาจากเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลัก และอาศัยการเจรจาต่อรองกันสามฝ่ายจนได้ข้อยุติ จนถึงในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลเดียวที่ 'กระชาก' ค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นกระปริบกระปรอยมายาวนานนับทศวรรษให้ขึ้นทีเดียว 80 กว่าบาทตามนโยบาย 'ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท' ตามที่หาเสียงไว้ โดยทยอยทำจังหวัดนำร่องก่อนที่จะขยายเป็นทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายบริหารสามารถกำหนดมาตรฐานรายได้ของแรงงานได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจำนวนมากทั้งจากผู้ประกอบการ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา บอร์ดไตรภาคี จึงเพิ่มกลไล 'ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ' ที่มาช่วยจัดทำสูตรการคำนวณบนหลักวิชาการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งก็ทำให้การพิจารณาครอบคลุมปัจจัยต่างๆ มากขึ้นและมีหลักวิชาการรองรับ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ 'ฝ่ายบริหาร' หรือรัฐบาลกำหนดทิศทางนโยบายได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อฝ่ายบริหารอยากเพิ่มรายได้ให้แรงงานก็จะโดนกล่าวหาว่า 'แทรกแซง' ระบบปกติและถึงขั้นขู่ว่าอาจผิด ม.157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
อย่างไรก็ดี หากดูสภาพการณ์ปัจจุบัน มีการประมาณการว่าคนที่ได้รับ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' มีอยู่ราว 4-6 ล้านคน (แล้วแต่วิธีสำรวจ) โดยมากผู้ที่รับค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นแรงงานต่างชาติ ผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่มักจะคัดค้านเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบให้ค่าแรงอื่นๆ ต้องปรับขึ้นตามไปด้วย
เมื่อถามว่า ค่าแรง 300 กว่าบาทมันพอเลี้ยงชีพในยุคนนี้จริงหรือ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็จะให้นิยามว่า ค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีไว้สำหรับ
1.แรงงานคนเดียว ไม่รวมครอบครัว
2.เป็นแรงงานแรกเข้าหรือเพิ่งทำงาน ยังไม่มีฝีมือหรือประสบการณ์
เรื่อง 'นิยาม' นั้นเป็นประเด็นตั้งต้นของมุมมองที่แตกต่าง เพราะนโยบายพรรคการเมือง หรือการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์อีกแนวหนึ่งกำลังพูดถึง คือ 'ค่าจ้างเพื่อชีวิต' ซึ่งมีนิยามว่า ค่าแรงที่แรงงานได้รับต้องเพียงพอในการเลี้ยงดูตัวเอง 'และครอบครัว' ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นิยาม 'ค่าจ้างเพื่อชีวิต' นั้นล้อไปกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี แต่จริงๆ แล้วไทยเองตอนกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ก็ใช้นิยามนี้แหละ แต่ใช้ได้ 2 ปี นิยามก็ถูกปรับมาให้ครอบคลุมแค่ ‘แรงงาน 1 คน’ ไม่นับครอบครัว
หลังจากนี้คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อสรุปเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง ต้องรอดูตัวเลขสุดท้ายว่าจะขยับขึ้นไปได้มากแค่ไหน และเป็นความท้าทายมากกว่า '400 บาททั่วประเทศ' รัฐบาลจะทำได้หรือไม่ ภายในเวลาเท่าใด เพราะการบริหารเรื่องนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นไปเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาล ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต มีศักยภาพในการแข่งขันล้อกันไปด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการต่างๆ ก็อาจอยู่ได้อย่างลำบากยิ่งขึ้น