ไม่พบผลการค้นหา
สัมภาษณ์พิเศษ 'ศิลปิน' ผู้สละทิ้งโลกอุดมคติและหันเข้ารับใช้ 'การเมือง' เพื่อปูทางไปยังโลกที่เธอใฝ่ฝัน เพราะฝีแปรงและความโกรธเปลี่ยนโลกได้

ถ้อยคำที่เปล่งออกมาราวจะเย้ยหยันและดูแคลนความทุข์ทรมานที่ตนต้องแบกรับของ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ย้ำชัดว่า เขาไม่มีเจตนาจะปลิดชีพตนเอง แต่จะขอทรมานร่างกายนี้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเขาและประเทศไทย 

"ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในกรงขัง เครื่องทรมาน หรือที่หลักประหาร"
ศิลปะ - แพรว

"ข้าพเจ้าจึงยินดีที่จะรับความทุกข์ทรมานที่พวกท่านจะยัดเยียดให้ และจะยังขอทรมานตนเองเพิ่มด้วย ดังนั้น นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขออดอาหาร ประทังชีพด้วยน้ำ น้ำหวาน และนมเท่านั้น ไปจนกว่าท่านจะคืนสู่สามัญสำนึกโดยการคืนสิทธิประกันตัวสู้คดีให้กับข้าพเจ้า ให้กับผู้กล่าวหาคดีมาตรา 112 และให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน หรือจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะหาไม่"

สิ้นเสียงประกาศเจตจำนง ณ วันที่ 15 มี.ค.นับจนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกินครึ่งเดือนแล้วที่มนุษย์ผู้หนึ่งดำรงชีพแบบกระเสือกกระสนไม่ให้ร่างกายร่วงโรยไป คำถามคือ ผู้อื่นต้องรู้สึกเช่นไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น มากไปกว่านั้นคือเราต้องทำเช่นไรกันต่อ 

สำหรับ 'ปวริศา วังคำฟู' หรือ พราว หญิงสาวเจ้าของผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดความเจ็บแค้นออกมาโดยไม่ต้องอาศัยคำพูดแม้แต่พยางค์เดียว เธอ "โกรธ" จนต้องลุกขึ้นจับอาวุธคู่กายที่สู้ฝึกฝนขึ้นมาเพื่อให้ได้ทำงานอุดมคติตามที่ใฝ่ฝัน

พราว 10.JPG
  • 'ปวริศา วังคำฟู' ศิลปินเจ้าของคอลเลคชันภาพวาด "กูบอกให้ปล่อยเพื่อนกู"

(ไม่ใช่)อาชญากรรม และ การ(ถูก)ลงทัณฑ์

คอลเลคชันภาพวาดภายใต้ชื่อ "กูบอกให้ปล่อยเพื่อนกู" ของพราว ไม่ได้ใกล้เคียงงานอุดมคติแบบที่เธอทราบซึ้งหรือชื่นชอบแม้แต่น้อย ทว่าผลงานเซ็ตนี้เริ่มต้นจากฝีแปรงที่สะบัดเอาความโกรธเกรี้ยวของตัวเองออกมา 

คอลเลคชันเริ่มขึ้นจากภาพเพนกวิ้น ก่อนจะตามมาด้วยเหล่าผู้บริสุทธิ์ที่ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้คดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา อาทิ อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ, แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

"มันเหมือนกับการจารึกพวกเขาไว้ ในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลาที่เขาติดคุก"

เธออธิบายให้เราฟังว่า การวาดภาพขึ้นมาหนึ่งภาพ ศิลปินจำเป็นต้องมีอารมณ์ร่วมกับงานที่เขากำลังรังสรรค์ และในที่นี้เธอเลือกรูปแบบการถ่ายทอดที่มองว่าสามารถสำแดงพลังทางอารมณ์ออกมาได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกระตุ้น "อะไรบางอย่าง" กับผู้ชมงาน

สำหรับตัวเธอเอง อารมณ์ร่วมกับงานเหล่านี้ชัดเจนและเรียบง่าย "เธอโกรธ" และตลอดการสัมภาษณ์ครั้งนี้ แทบไม่มีห้วงวินาทีไหนที่เธอไม่โกรธเมื่อพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พราวเล่าว่า เนื่องจากเธออาศัยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เลยไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงบ่อยนัก แต่ก็เคยมีโอกาสได้ร่วมอยู่บ้าง 

ศิลปะ - แพรว

ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเกิดจราจลขนาดย่อมๆ ขึ้น เธอชี้ว่า ผู้คนกำลังโกรธเกรี้ยว - ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่กับการชุมนุมประท้วง แต่ตลอดชีวิตของหลายคน ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ - ขณะที่ 'ความรุนแรง' เหมือนกำลังจะก่อตัว "พวกเขาที่อยู่ในคุก" คือ คนที่หยิบสันติวิธีขึ้นมานำหน้า และทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยที่สุด ก่อนจะค้นพบว่าตัวเขาเหล่านั้นต้องสูญสิ้นซึ่งอิสรภาพ 

"มันอยู่ในจุดที่ไม่ไหวแล้วนะ มันไม่ไหวแล้ว คนที่โดนจับไป คือเขาเป็นเยาวชนนะ เขาก็เป็นคนที่รุ่นราวคราวเดียวกับเรา ตัวเรายังมีความฝันเลย แล้วเขาไม่มีความฝันเหรอ เขาก็อยากจะเดินทางในเส้นทางที่เขาต้องการจะเลือกเดิน แต่ว่าด้วยความเสียสละหรือว่าการอุทิศตนบางอย่างเพื่อส่วนรวม ทำให้พวกเขาต้องโดนจับ มันสมควรแล้วเหรอ"

จุดเริ่มต้นจากความโกรธ และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะศิลปินเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ นำไปสู่การประมูลงานศิลป์ที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์ถกเถียง ผิดวิสัยกลุ่มประมูลงานศิลปะทั่วไป ที่นอกจากจะวางเงิน ก็จะเน้นไปแค่การบรรยายความงามเท่านั้น

ศิลปะ - แพรว

ภาพทนายอานนท์คือหนึ่งในผลงานที่ร้อนแรงและเป็นกระแสที่สุด ในกลุ่มประมูลฯ การขับเคี่ยวของภาพขนาด 35*40 ซม. ผ่านเทคนิคสีอะครีลิค เปิดประมูลที่ 500 บาท ก่อนไปจบที่ตัวเลข 33,200 บาท แต่เหนือไปกว่านั้น คือบทสนาที่ถูกเปิดขึ้นในแวดวงที่ไม่นิยมพูดถึงเรื่องดังกล่าว

"พราวพอใจนะคะ ความจริงก็ไม่ได้คาดหวังอะไรอยู่แล้ว เราทำเพราะเราอยากทำ ผลตอบรับก็ดีนะคะ มันดีตรงที่ มันเป็นการแชร์ มันมีหลายคนเข้ามาแชร์ ในเรื่องต่างๆ ในมุมมองทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งตรงนี้พราวทำเองไม่ได้"

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
-ศิลปะบริสุทธิ์ -

พราว ยอมรับว่าก่อนหน้าจะหันมาทำงานศิลปะสะท้อนการเมือง เธอเป็นอีกคนที่ทำงานอุดมคติมากก่อน งานอุดมคติที่เธอว่าคืองานที่เกิดขึ้นจากความต้องการของตัวเอง ด้วยรูปแบบที่เธอต้องการทำอย่างแท้จริง โดยปราศจากแรงกดดันหรืออิทธิพลจากองค์ประกอบแวดล้อม

สภาวะข้างต้นนี้มีชื่อเรียกว่า 'ศิลปะบริสุทธิ์' คือบริสุทธิ์จากสังคมแวดล้อม อาทิ การเมือง, เศรษฐกิจ ไปจนถึงเชื้อชาติ และทุกสิ่งอย่าง 

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โลกศิลปะ จะเห็นอย่างชัดเจนว่า หากศิลปะไม่เป็นผลผลิตของสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยเฉพาะกับศิลปะที่รับใช้ศาสนา จนช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ศิลปินในยุโรปจึงหยิบแนวคิดของนักปรัชญาแห่งศตวรรษที่ 18 อย่าง 'เอ็มมานูเอล คานต์' ที่เชื่อว่าศิลปะควรเป็น 'เอกราช' (autonomy) ไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งใด เว้นเพียงแต่ความงามของตัวชิ้นงานเอง จนเกิดเป็น 'ลัทธิสุนทรียนิยม' (Aestheticism) 

สำหรับไทย พราว สะท้อนว่า แวดวงงานศิลป์ของประเทศแคบมากและแทบจะมีชุดความเชื่อที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นคอยครอบงำเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินในวงการ ตัวอย่างชัดเจนล่าสุด หนีไม่พ้นสิ่งที่เกิดขึ้น ณ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เมื่อ ผลงานศิลปะเกือบถูกอุ้มหาย เพราะ 'ผู้มาเก็บกวาด' มองไม่ออกว่านี่คือ 'ชิ้นงาน' หรือ 'ขยะ' หรือแท้จริงแล้วมองออกแต่ "นายสั่งมา"

งานศิลปะที่ถูกสั่งเก็บ มช. 220364.jpg
  • งานศิลปะของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

"ทุกอย่างมันวนเวียนอยู่แค่นี้เป็นวงกลม เป็นลูปๆ เราไม่เคยได้ออกไปข้างนอก เพื่อนพราวเก่งกันมากเลยนะ เก่งกันจริงๆ แต่ทำไมพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับสักที เมื่อไหร่จะได้รับการยอมรับ อ๋อ โอเค ต้องเขียนงานอุดมคติเหรอ แล้วก็อุดมคติแบบที่เขาต้องการด้วย ไม่ใช่อุดมคติแบบที่เราต้องการ" 

"ศิลปะกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ศิลปะอยู่คู่การเมืองมาเนิ่นนาน มันเป็นสิ่งที่รับใช้สังคมมาจริงๆ สมัยก่อน ศิลปะรับใช้สังคมชั้นสูง แล้วศิลปะก็เริ่มเข้ามามีบทบาทกับสังคมคนชั้นล่าง แต่ด้วยพีระมิดตรงนี้ มันทำให้ ผลงานศิลปะที่ราคาสูงขึ้นไปอยู่ข้างบนสุด แล้วผลงานสำหรับคนข้างล่าง กราฟฟิตี้ ไหนอ่ะ ราคาของพวกเขา เรารู้ว่าพวกเขามีราคา"

"เขาตัดสินเลยว่างานแบบนี้ดี งานอุดมคติแบบนี้สวย งานวัฒนธรรม งานประเพณี สวย ได้รางวัล ไม่ใช่ งานศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้"

เท่านั้นยังไม่พอ ในวงการศิลปะไทยที่ผู้มีอำนาจมักเป็นผู้ที่อายุมากกว่า มีตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า พราว ตั้งใจตั้งคำถามว่า อะไรที่เป็นบรรทัดฐานมอบอำนาจให้กับบุคลคลเหล่านั้นเมื่อ "ในมหาวิทยาลัยที่เรียน ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ทางทฤษฏีใครก็เรียนรู้ได้ในทางของตัวเอง แต่ไม่มีใครรอบรู้ทุกเรื่อง แม้แต่นักศึกษาก็สามารถเรียนรู้ได้เท่ากับอาจารย์"

ศิลปินสาวสะท้อนมุมมองของเธอต่อ 'ศิลปะบริสุทธิ์' หรือวาทกรรมที่คนจำนวนไม่น้อยเอื้อนเอ่ยว่า "อย่าเอาศิลปะไปปนกับการเมือง" 

"ศิลปะไม่มีวันบริสุทธิ์ได้ คุณจะซาบซึ้งในสิ่งที่มันเป็นอุดมคติได้ยังไง เมื่ออยู่ท่ามกลางสงคราม"

ฝีแปรงของเธอไม่ได้มีไว้เพื่อระบายความโกรธเกรี้ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยเป็นสื่อกลางให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าประเทศเดินมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ความงามในความเจ็บปวดเหล่านี้ช่วยเชื่อมประสานผู้คนจากคนละฝั่งของความคิดได้ในแบบที่การกล่าวปราศรัยอาจทำไม่ได้ 

ศิลปะ - แพรว

"เคยได้ยินคำว่าศิลปะคืออาวุธใช่ไหมคะ คือ คนเป็นศิลปิน เขาจะสร้างอะไรก็ได้ มันเหมือนเวทมนต์ เราจะเสกอะไรก็ได้ ที่ในโลกความจริงมันมีปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้สิ่งที่เราต้องการจะสร้างขึ้นมาเป็นไปไม่ได้ งานศิลปะจะเป็นตัวบอกแทน เป็นเหมือนสัญญะแทน"

"ตอนนี้พราวเลือกการอุทิศตนแล้ว พราวเปิดประตูเข้ามาตรงนี้แล้ว หมายความว่าพราวมาร่วมต่อสู้แล้ว พราวทำในทิศทางที่พราวทำได้ ไม่ว่าผลอะไรจะเกิดขึ้น เราทำไปแล้ว ทำเท่าที่ตัวเองรู้สึกว่าเราอุทิศตนจริงๆ แบบชาตินี้เราไม่เสียดายแล้ว อย่างน้อยเราก็ร่วมสู้แล้ว"

การต่อสู้นี้ เธอไม่เพียงมุ่งหวังให้ 'ผู้บริสุทธิ์ในเรือนจำ' มีอิสรภาพอีกครั้ง ประเทศมีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ยังเพื่อเติมความหวังให้ตัวเธอได้กลับไปทำงานศิลปะในอุดมคติของเธออีกครั้ง งานที่ออกมาจากตัวเธอ ไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้มีเจตจำนงประชาธิปไตย งานที่เพียงต้องการแสดงออกซึ่ง 'สุทรียภาพ' และ 'ความงาม' 

"เราไม่สามารถทำงานอุดมคติออกมาตอนนี้ได้ เพราะว่าไม่มีใครตอนนี้รู้สึกว่าสิ่งที่มันมีอยู่ตอนนี้มันสวยงาม คุณมองเห็นความสวยงามบ้างไหมล่ะ ในโลกตอนนี้ ใช่ มันมีความสวยงาม แต่ว่า ความอดกลั้น ความกดดัน ความที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแม่ง 'ขี้แพ้' ว่ะ มันมีอยู่" 

"เราเลยต้องพักไง พักแล้วต่อสู้เพื่อที่งานอุดมคติ งานศิลปะบริสุทธิ์ควรจะได้เกิดขึ้น"

บทสัมภาษณ์ของ 'วอยซ์' กับ ศิลปินหญิงจบลงตรงนี้ ณ วันที่เราเหลือแต่ความหวังว่าศิลปินจะได้กลับไปทำงานอุดมคติของพวกเขามตามที่ฝันใฝ่กันเอาไว้

อ้างอิง; Research paper, The MET, Encyclopedia, Britannica

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;