ไม่พบผลการค้นหา
สุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่ง เผย 3 สาเหตุที่ประชาชนบ่นอุบทุกครั้งที่รถเมล์ขึ้นราคา

ท่ามกลางอุณหภูมิ 40 องศา การปรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2562 เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเพิ่มความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง

โดย รถเมล์ ขสมก. รถร้อนครีมแดง ปรับจากจาก 6.50 บาท เป็น 8 บาท ตลอดสาย รถปรับอากาศครีมน้ำเงิน จาก 10-18 บาท เป็น 12-20 บาทตามระยะทาง รถปรับอากาศยูโรทูสีส้ม และ NGV สีขาว จาก 11-23 บาท เป็น 13-25 บาทตามระยะทาง และ รถปรับอากาศ NGV สีฟ้ารุ่นใหม่ จาก 11-23 บาท เป็น 15-20-25 บาทตามระยะทาง ซึ่งรถใหม่ของ ขสมก. ราคาเพิ่มขึ้น 2-7 บาท

ส่วนรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ มินิบัสสีส้ม รถธรรมดาสีขาวน้ำเงิน และรถธรรมดาสีชมพู จาก 9 บาท เป็น 10 บาท ตลอดสาย รถปรับอากาศสีฟ้ายูโรวัน/ยูโรทู และรถปรับอากาศ NGV สีเหลือง จาก 13-25 บาท เป็น 14-26 บาทตามระยะทาง  และรถปรับอากาศ NGV สีฟ้ารุ่นใหม่ จาก 13-25 บาท เป็น 15-20-25 บาทตามระยะทาง ซึ่งรถใหม่ของเอกชน ราคาเพิ่มขึ้น 1-5 บาท

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ความไม่พอใจของประชาชนต่อการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลักได้แก่

1.ไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง - ขาดการนำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจน

จากการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.ของทีดีอาร์ไอ พบว่า รถเมล์ร้อนมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 15 บาท แต่ ขสมก. เก็บค่าโดยสาร 6.50 บาทต่อเที่ยว/คน หรือขาดทุนอยู่ 8.50 บาทต่อเที่ยว/คน 

ขณะที่รถเมล์ปรับอากาศมีต้นทุนเฉลี่ย 20 บาทต่อเที่ยว/คน แต่ ขสมก. จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางระหว่าง 13-26 บาทต่อเที่ยว/คน

ดร.สุเมธ กล่าวว่า สิงคโปร์และอีกหลายประเทศมีการขึ้นราคาค่าโดยสารเฉลี่ยทุก 1-2 ปี และมีสูตรการคำนวณที่ชัดเจน เสมือนกับการคิดปรับอัตราค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟที ที่พิจารณากันทุกๆ 4 เดือน จะปรับไม่ปรับอีกเรื่อง แต่ต้องมีสูตรคำนวณที่ชัดเจน ขณะที่ค่าโดยสารรถเมล์ ที่ผ่านมามักเป็นสูตรคำนวณลักษณะเฉพาะกิจ จนทำให้การรับรู้ของประชาชนไม่แน่นอนและมีปัญหาในการทำความเข้าใจ

“บ้านเราพอน้ำมันขึ้นและมีการประท้วงเรียกร้องจากผู้ประกอบการ ก็จะยกการปรับค่าโดยสารขึ้นมาพูดคุย ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรทำเป็นระบบ เช่น พิจารณากันทุกปี นำตัวเลข ข้อมูล ดัชนี ต่างๆ มาคุยกัน เช่น ค่าแรง ค่าครองชีพ ค่าเชื้อเพลิง เงินเฟ้อ และตัดสินใจว่าจะขึ้นหรือไม่”

รถเมล์ปรับค่าโดยสารวันแรก

เมื่อไม่มีสูตรการคำนวณ ข้อมูลและเหตุผลที่ชัดเจน รวมถึงยังการมีชะลอและขอความร่วมมืออย่างเป็นประจำ ทั้งหมดจึงกลายเป็นภาระสะสมจนนำไปสู่ประสิทธิภาพการเดินรถที่ถดถอย และความไม่พอใจของประชาชนทุกครั้งที่มีการขึ้นราคา

“พ��ขึ้นราคาไม่ได้ ผู้ประกอบการเอกชนก็จะพยายามลดต้นทุน ซึ่งหมายถึงการลดคุณภาพ เช่น ใช้รถเก่า ขับรถเร็วเพื่อวิ่งทำรอบ แย่งผู้โดยสาร หรือจอดแช่หากช่วงเวลานั้นไม่มีคู่แข่ง กลายเป็นปัญหาสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่ง กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลสามารถรับรู้ ‘ต้นทุน’ ของการเดินรถโดยสารที่ค่อนข้างชัดเจน ปัญหาสำคัญคือ ข้อมูลด้านจำนวนผู้โดยสารและการทับซ้อนของเส้นทางวิ่ง ยังถือเป็นสิ่งที่ไม่แน่ชัด และมีผลต่อการออกแบบและพัฒนาระบบการเดินทางอย่างมาก

2.การอุดหนุนอย่างไร้เป้าหมาย

รายงานประจำปี 2560 ของ ขสมก. พบว่า มีการขาดทุนทั้งสิ้นราว 4,916.79 ล้านบาท โดยมีเงินอุดหนุนบริการสาธารณะจากรัฐ 809.77 ล้านบาท

ดร.สุเมธ กล่าวว่า รัฐไม่สามารถอุดหนุนด้วยเงินจำนวนมากตลอดไป ขณะเดียวการอุดหนุนของรัฐในอนาคตต้องเกิดจากความพร้อมด้านข้อมูลที่ชัดเจน ว่าควรอุดหนุนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่การอุดหนุนอย่างไร้เป้าหมาย ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือยกระดับศักยภาพแบบที่ผ่านมา

ทั้งนี้ต้นทุนค่าโดยสาร ประจำปีงบประมาณ 2562 (ข้อมูลเดือน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561) มีดังนี้

- รถครีมแดง (รวมรถเมล์ฟรี) ต้นทุน 11,192 บาท ต่อวัน

- รถโดยสารปรับอากาศ ครีมน้ำเงิน ต้นทุน 12,089 บาท ต่อวัน

- รถปรับอากาศใช้ก๊าซ ต้นทุน 12,471 บาท ต่อวัน

- รถปรับอากาศ สีส้ม (ยูโร II) รุ่น 796 คัน ต้นทุน 13,319 บาท ต่อวัน

- รถปรับอากาศ สีส้ม (ยูโร II) รุ่น 500 ต้นทุน 14,824 บาท ต่อวัน 




รถเมล์ปรับค่าโดยสารวันแรก

3.การดำเนินงานที่เต็มไปด้วยช่องโหว่

“เราไม่มีระบบวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพื่อคอยถ่วงดุลกับการขึ้นราคา ทั้งที่การดำเนินงานต้องถูกควบคุมหรือกำกับอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านข้อมูลและการประเมินผล”    

ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง ระบุว่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาการวิ่งทับซ้อน จนกระทบต่อปริมาณผู้โดยสาร กำไร ต้นทุนและคุณภาพการเดินรถ

“เส้นทางที่ทับซ้อน ทำให้รายได้ลดน้อยกว่าที่ควรเป็น การแข่งขันกลายเป็นการแข่งขันเพื่อแย่งผู้โดยสารด้วยความเร็วและการทำรอบ ไม่ใช่แข่งขันกันที่คุณภาพของตัวรถ พนักงานและประสิทธิภาพด้านเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วหากจัดโครงสร้างให้ดี ทุกฝ่ายจะประสบความสำเร็จ ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

“ทุกวันนี้เป็นการลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งหมายถึงคุณภาพยิ่งแย่ ภาพที่เห็นคือคุณต้องวิ่งไล่รับผู้โดยสาร จังหวะไม่มีคนมาไล่ก็วิ่งช้าๆ รอผู้โดยสาร มันไม่ใช่ระบบรถโดยสารสาธารณะที่ควรจะเป็น” เขากล่าว

ทั้งนี้โดยสรุป เมื่อโครงสร้างระบบและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ ทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาค่าโดยสาร อารมณ์ความไม่พอใจของพี่น้องประชาชนก็จะเกิดขึ้นเสมอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: