ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ศึกษา สหรัฐฯ ดำเนินเรื่องตามคำสั่ง 'ทรัมป์' ยืดการจ่ายหนี้นักเรียนออกไปจนถึงสิ้นปี-คงดอกเบี้ยเป็นศูนย์ เจ้าหน้าที่รัฐยังได้รับการยกหนี้เพิ่มอีก 9 เดือน

เบ็ตซี เดวอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายเลื่อนการจ่ายคืนหนี้เพื่อการศึกษาของชาวอเมริกันออกไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. เดิมมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว จะครบกำหนดวันที่ 30 ก.ย. 2563 

แนวโนยบายดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ลงนามในหนังสือ 'บันทึกข้อตกลงยืดระยะเวลาช่วยเหลือหนี้เพื่อการศึกษาในช่วงโรคระบาดโควิด-19' เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา 

ช่วงหนึ่งของทึกข้อตกลงชี้ว่า มาตรการที่เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 20 มี.ค. แบ่งเบาภาระผู้ยืมสินเชื่อได้กว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวอเมริกันจำนวนมากยังประสบปัญหาว่างงานจากโรคระบาด ขณะที่อีกหลายกลุ่มได้รับค่าจ้างต่ำกว่าปกติ จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่ภาครัฐจะขยายระยะเวลาช่วยเหลือออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ 

เบ็ตซี ชี้ว่า สืบเนื่องจากมาตรการเดิมของรัฐ ลูกหนี้ทุกคนจะได้รับการผ่อนคลายหนี้ไปจนถึงต้นปี 2564 เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวที่จะถูกปรับเป็น 0% ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ต้องการจ่ายหนี้คืนตามปกติก็ยังสามารถทำได้ และจะเป็นการช่วยให้ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนหนี้ได้เร็วขึ้นและถูกขึ้นด้วย 

ตามข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ปัจจุบันมีจำนวนลูกหนี้ในสินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น 42.6 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าหนี้สิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 47 ล้านล้านบาท 

ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว คนงานของรัฐยังอาจได้รับการยกหนี้บางส่วนเพิ่มเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งโครงการที่ชื่อว่า 'การยกหนี้ให้ผู้ที่อยู่ในภาครัฐ' เมื่อปี 2550 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำงานให้องค์กรภาครัฐหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้กู้จะจ่ายเงินกู้คืนให้กับรัฐคิดเป็นมูลค่า 1% ของรายได้ตลอดระยะเวลา 10 ปี หรือคิดเป็นจำนวน 120 เดือน หลังจากนั้น หนี้ที่เหลือรัฐจะยกให้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือในปัจจุบัน ผู้กู้จะได้รับการยกหนี้เพิ่มเป็นเวลา 9 เดือน คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย ผู้กู้มียอดสินเชื่อประมาณ 8.7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.7 ล้านบาท 

อ้างอิง; WSJ, CNBC, Forbes

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;