หากใครที่เคยมีชีวิตผ่านช่วงปลายยุค 90 หรือต้น 00 ก็คงได้อยู่ร่วมเป็นพยานความรุ่งเรืองทางอาชีพของผู้กำกับญี่ปุ่น ชุนจิ อิวาอิ หนังหลายเรื่องของเขาโด่งดังในบ้านเรา ไม่ว่าจะ Love Letter (1995), All About Lily Chou-Chou (2001) และ Hana & Alice (2004) ส่วนหนังเรื่องล่าสุดของเขา Last Letter (2020) จะเข้าฉายที่ไทยช่วงเดือนมีนาคม
อีกหนึ่งผลงานที่มีชื่อเสียงของอิวาอิคือภาพยนตร์เรื่อง Swallowtail Butterfly (1996) หนังความยาวสองชั่วโมงครึ่งที่มีส่วนผสมของทั้งหนังอาชญากรรม ไซไฟ และดนตรี นอกจากตัวหนังแล้วเพลงธีมของหนังที่ชื่อว่า Swallowtail Butterfly ~Ai no Uta~ ก็ทำยอดขายในญี่ปุ่นไปกว่าแปดแสนแผ่น ซึ่งเพลงนี้ขับร้องโดยชาร่า (Chara) ผู้รับบทนักแสดงนำของเรื่องด้วย
หลายคนอาจรู้จักชาร่าในด้านชีวิตส่วนตัวของเธอ เธอเป็นอดีตภรรยาของนักแสดงชื่อดัง ทาดาโนบุ อาซาโนะ แถมลูกของทั้งสอง-ซุมิเระและฮิมิ-ก็เป็นนักแสดงวัยรุ่นมาแรง อย่างไรก็ดี ชาร่ายึดอาชีพนักร้องมาราวสามทศวรรษ มีอัลบั้มออกมาทั้งหมด 18 ชุด ทำแนวเพลงมาแทบทุกแบบ ไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าเธอเป็นหนึ่งใน ‘ศิลปิน’ ตัวจริงของวงการเพลงญี่ปุ่น
ชาร่าออกอัลบั้มชุดแรก Sweet ในปี 1991 ช่วงแรกทำดนตรีแนวซินธ์ป๊อป แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เอกลักษณ์ของเธอคือเสียงแหลมขึ้นจมูกไม่เหมือนใคร (และน่าจะไม่มีใครอยากเหมือน) บ้างว่าเป็นเสน่ห์ของเธอ บ้างก็ว่าแสบหูจนน่ารำคาญ หลังจากความสำเร็จของเพลง Swallowtail Butterfly (1996) ในที่สุดชาร่าก็ดังเป็นพลุแตกจากเพลง Yasashii Kimochi (1997) (ชื่อเพลงแปลว่า ‘ความรู้สึกอันอ่อนโยน’) และส่งผลให้ Junior Sweet (1997) อัลบั้มชุดที่หกของเธอมียอดขายทะลุล้านแผ่น
หลังจากนั้นชาร่าก็ทำเพลงในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทริปฮ็อป ดาวน์เทมโป แอมเบียนต์ป๊อป และอิเล็กทรอนิกา ตัวอย่างงานเด่นๆ ก็เช่น อัลบั้มชุด Madrigal (2001) ที่มี เจมส์ ไอฮา แห่งวง Smashing Pumpkins มาร่วมแต่งเพลงจนกลายเป็นงานอัลเทอร์เนทีฟป๊อปที่มีซาวด์กีต้าร์สุดเท่ หรือ Something Blue (2005) ผลงานที่ชาร่าทำในช่วงที่กำลังจะเลิกรากับสามี จนกลายเป็นเพลงทดลองสุดหม่นเศร้า ถึงขั้นว่าชาร่าไม่เคยแสดงสดเพลงจากอัลบั้มชุดนี้เลย เพราะมันนำมาซึ่งความทรงจำอันเลวร้าย
แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 2010s ความนิยมของชาร่าจะลดลงไป แต่เธอก็ยังทำเพลงอย่างต่อเนื่อง ยังมีแฟนคลับที่สนับสนุนเธอจนสามารถทัวร์คอนเสิร์ตได้เรื่อยๆ Baby Bump (2018) อัลบั้มชุดล่าสุดซึ่งเป็นผลงานชุดที่ 18 เป็นการผสมระหว่างเพลงแดนซ์ แจ๊ซ และโซล นั่นทำให้เห็นว่าเธอเป็นศิลปินที่ไม่เคยซ้ำรอยตัวเองและยังลองอะไรใหม่ๆ เสมอ
ผู้เขียนติดตามชาร่ามาราวสิบห้าปีและอยากดูคอนเสิร์ตเธอมาตลอด แต่ไปญี่ปุ่นทีไรก็คลาดกันทุกที จนเมื่อประกาศว่าชาร่าจะมีโชว์ที่ไทเปในช่วงต้นมกราคม 2020 ไม่ต้องใช้เวลาคิดนานก็ตัดสินใจจองตั๋วทันที แถมความพิเศษคือนี่เป็นคอนเสิร์ตนอกประเทศครั้งแรกของเธอด้วย (ศิลปินญี่ปุ่นไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากคนไต้หวันค่อนข้างนิยมชมชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากยุคอาณานิคมที่ญี่ปุ่นช่วยพัฒนาประเทศไต้หวันในหลายด้าน คนไต้หวันส่วนใหญ่จึงมีทัศนคติที่ดีต่อญี่ปุ่น)
คอนเสิร์ตของชาร่าจัดที่ The Wall ไลฟ์เฮ้าส์ชื่อดังที่มีความจุประมาณ 600 คน ความตลกคือคนดูกว่าครึ่งเป็นคนญี่ปุ่น (มั่นใจว่าบินจากญี่ปุ่นเพื่อมางานนี้โดยเฉพาะ) ชาร่าปรากฏตัวอย่างเป็นกันเองและพูดคุยกับผู้ชมเป็นภาษาญี่ปุ่นเกือบทั้งงาน มีภาษาจีนกลางและอังกฤษเพียงเล็กน้อย แต่ถึงจะไม่มีล่าม ดูเหมือนศิลปินกับแฟนเพลงก็สามารถสื่อสารกันได้
โชว์นี้ชาร่าพานักดนตรีมาถึง 7 คน ประกอบด้วย กีต้าร์ 1 เบส 1 แซ็กโซโฟน 1 คีย์บอร์ด 1 กลอง 1 และคอรัสอีก 2 คน โดยช่วงหลังมาชาร่าค่อนข้างอินกับดนตรีแจ๊ซและโซล คอนเสิร์ตของเธอเลยนำเสนอในแบบดนตรีบิ๊กแบนด์ มีเครื่องเป่ามีตัวละครสำคัญ ซึ่งส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ค่อยโปรดดนตรีแนวนี้นัก แต่การชมคอนเสิร์ตก็ผ่านไปอย่างรื่นรมย์ นักดนตรีทุกคนส่งพลังของตัวเองอย่างเต็มที่ จะติดอยู่บ้างที่แต่ละเพลงมักมีช่วง jam session ต่อท้าย จนบางครั้งรู้สึกถึงความยืดเยื้อ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่วิเศษที่สุดในงานคือวิธีการร้องของชาร่า มันเป็นการร้องเพลงประเภทมีเธอคนเดียวในโลกที่ทำได้ ต้องยอมรับว่าพวกเพลงดังๆ อย่าง Swallowtail Butterfly หรือ Yasashii Kimochi เธออาจจะร้องได้ไม่ดีเท่าต้นฉบับ ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ต้องร้องหลบเสียงอยู่หลายจังหวะ (ปีนี้เธออายุ 52 แล้ว!) แต่เพลงส่วนใหญ่เธอทำได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะการเอื้อนเสียง การขึ้นเสียงสูง หรือการแผดเสียงที่แม่นยำจนสะกดคนดูได้ทั้งงาน
ต้องสารภาพว่าผู้เขียนไม่สามารถจดจำเพลงของชาร่าได้ทั้งหมด เนื่องจากเธอมีผลงานมากถึง 18 อัลบั้ม ในคอนเสิร์ตนี้เธอร้องทั้งเพลงฮิตและเพลงที่ไม่ค่อยเล่น บางเพลงถึงกับงงว่า “เฮ้ย มันมีเพลงนี้ด้วยเหรอ” โชคดีที่ผู้จัดเขาโพสต์เซ็ตลิสต์ย้อนหลัง ทำให้ไขกระจ่างว่าตัวเองได้ฟังเพลงอะไรไปบ้าง
นี่เป็นเรื่องงดงามที่ทำให้เห็นว่า-แม้แต่ศิลปินที่ฟังเพลงมาราวครึ่งชีวิต เราก็ยังค้นพบอะไรใหม่ๆ ในตัวเขาได้
ภาพประกอบ: https://www.facebook.com/romanticoffice/