พระเทพปริยัติ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวสวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวสัมโมทนียกถา ในงานพิธีเปิดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางเล่าเรื่องพระเจ้าติโลกราช และสักการะพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็ง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด ผู้บริหาร ข้าราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วม ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมสู่ทุนทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้มีการนำทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมเสริมสร้างคุณค่าทางสังคมควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2568 จึงได้มอบหมายให้กรมการศาสนาร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสสักการะพระบรมธาตุและพระธาตุตามคติความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตริย์ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา: สักการะพระธาตุประจำปีเกิด” ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา เพื่อยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Soft Power) กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมศักยภาพวัด ศาสนสถาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตบนฐานของมิติศาสนาที่สอดคล้องกับบริบทของประชาชนในพื้นที่และความต้องการของนักท่องเที่ยว ผู้มารับบริการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า การสักการะพระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 นักษัตร เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในหมู่ชาวล้านนา เป็นคติความเชื่อที่ชาวล้านนายึดถือมาช้านาน โดยเชื่อว่าดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไปตามที่สัตว์ประจำปีนักษัตรหรือ "ตั๋วเปิ้ง" พาไปพัก เพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น ทำให้ชาวล้านนา หรือศาสนิกชนที่มีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตนมักจะหาโอกาสไปกราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต โดย
1) ผู้ที่เกิดปีชวด สักการะพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
2) ผู้ที่เกิดปีฉลู สักการะพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
3) ผู้ที่เกิดปีขาล สักการะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
4) ผู้ที่เกิดปีเถาะ สักการะพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
5) ผู้ที่เกิดปีมะโรง สักการะพระธาตุพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
6) ผู้ที่เกิดปีมะเส็ง สักการะพระมหาเจดีย์พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งได้จำลองมาไว้ที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่
7) ผู้ที่เกิดปีมะเมีย สักการะเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งได้จำลองมาไว้ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก
8) ผู้ที่เกิดปีมะแม สักการะพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
9) ผู้ที่เกิดปีวอก สักการะพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
10) ผู้ที่เกิดปีระกา สักการะ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
11) ผู้ที่เกิดปีจอ สักการะพระธาตุอินทร์แขวน ประเทศเมียนมาร์ หรือพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่
12) ผู้ที่เกิดปีกุน สักการะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย
สำหรับปี 2568 กระทรวงวัฒนธรรม ผลักดัน “ทุนทางวัฒนธรรม สู่ทุนเศรษฐกิจ” โดยส่งเสริมให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตามความเชื่อเรื่องปีนักษัตร (12 นักษัตร) ปี 2568 เป็นปี “มะเส็ง” หรือ ปี “งูเล็ก” ซึ่งชาวล้านนาโบราณเชื่อว่า พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็งคือ “พระมหาเจดีย์พุทธคยา” รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย จึงอนุโลมให้ไหว้พระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งคือ “พระเจดีย์เจ็ดยอด” ที่ “วัดเจ็ดยอด” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้บุญกุศลสูงล้น ส่วนคนที่เกิดปีนักษัตรอื่น ๆ นั้นหากได้มาไหว้องค์พระธาตุเจ็ดยอดในปีนี้เชื่อว่าจะได้บุญกุศลใหญ่เช่นเดียวกัน นอกจากความสำคัญในเรื่องคติความเชื่อพระธาตุปีเกิดประจำปีมะเส็งแล้ว “วัดเจ็ดยอด” ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของเชียงใหม่ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันงดงาม รวมทั้งเป็นสถานที่ประชุมสังคายนาที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก และเป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อประมาณกว่า 500 ปี นอกจากนี้ที่วัดเจ็ดยอดยังมีองค์ “พระเจ้าทันใจ” ที่บรรดานักท่องเที่ยวสายมูนิยมมากราบไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่า “พระเจ้าทันใจ” จะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และหนุนส่งให้การงาน การเงิน การค้าเจริญและร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วทันใจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายไปว่า ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมุ่งเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งและผลักดันเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตยั่งยืน โดยขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วย 4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลก ให้มาเที่ยวในมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา จากความเชื่อท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้ การสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยการสักการะพระธาตุประจำปีเกิดตามความเชื่อและศรัทธา มีส่วนช่วยให้ประชาชน สังคม และประเทศชาติ
1) การกลับไปสู่รากเหง้าทางวัฒนธรรม
2) เสริมสร้างจิตใจให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นด้วยหลักธรรมทางศาสนา
3) ยังเป็นการส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) ยกระดับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในการเสริมสร้างอาชีพ รายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
4) พัฒนาศักยภาพวัด โบราณสถาน แหล่งเรียนรู้ทางศาสนา ชุมชน สถานประกอบการ ในการให้บริการด้านท่องเที่ยวในมิติศาสนาให้มีคุณภาพพร้อมรับนักท่องเที่ยว
5) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดให้ประชาชนได้ศึกษาเข้าใจในคติความเชื่อมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมกันสืบสานประเพณีการสักการะพระธาตุประจำปีเกิดตามคติความเชื่อ ความศรัทธา เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า และรวมพลังขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) ต่อยอดทุนทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย สู่ทุนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง นำพาประเทศสู่ความยั่งยืนสืบไป