วันที่ 8 ธ.ค. วทันยา บุนนาค ผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภายในพรรคต่อการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ว่า ขอแสดงจุดยืนที่จะเสนอตัวเองเป็นทางเลือกในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เพราะมีความเชื่อมั่น และศรัทธา โดยมองว่า หนทางเดียวที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นความหวังให้ประชาชนคือ การทำจุดยืนการเมือง และอุดมการณ์ของพรรคให้ชัดเจน
วทันยา กล่าวอีกว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะทุกวันนี้ประชาชน และสังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การปฏิวัติเทคโนโลยี ปัญหาสภาพแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และสังคมผู้สูงวัยที่ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ
รวมไปถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก มิหนำซ้ำประเทศของเรายังไม่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำคือ เสนอทางออกในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่ย้ำว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเอง
“เดียร์ศรัทธาในวิถีแห่งอุดมการณ์ จึงเป็นเหตุผลที่เสนอตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค ยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงคำพูดใดๆ และจุดยืนของตัวเอง จะขอสู้ให้ถึงที่สุด” วทันยา กล่าว
ส่วนกรณีที่ 21 สส. ของพรรคประชาธิปัตย์จะเทียบเชิญ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค วทันยา มองว่า ยิ่งมีแคนดิเดตหัวหน้าพรรคมากเท่าไหร่ ถือเป็นโอกาสดีที่สมาชิกพรรคมีทางเลือก แต่เรื่องของความคิดเห็นน่าจะเป็นการตัดสินใจของประชาชนที่ท้ายที่สุดแล้วจะมีความรู้สึกอย่างไรกับพรรค
วทันยา ยังกล่าวย้ำอีกว่า ตนมีความฝันอยากทำการเมืองตามที่ได้กล่าวมา ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเพราะต่อรองผลประโยชน์ หรือคำนวณผลแพ้ชนะ ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จะขอสู้จนถึงที่สุด ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของสมาชิกพรรค ตนเคารพในความเห็นที่แตกต่าง จึงตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่ตนเห็นอนาคตของพรรค เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปดักรออนาคตของโลก หรือเป็นความหวังให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม หากผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรรไม่เป็นดังหวัง วทันยา กล่าวว่า จะขอกลับไปประเมิน เพราะเป็นหลักของนักการเมืองที่ว่า หากจะร่วมงานกับพรรคใด คงต้องดูอุดมการณ์ของพรรคว่าเป็นเช่นไร แต่มันไม่ได้เป็นความผิดของใคร พรรคเป็นเรื่องของพรรค สมาชิกเป็นเรื่องของสมาชิก แต่อุดมการณ์ส่วนตัวเป็นเรื่องของตัวเองที่จะต้องพิจารณาหากไม่เหมาะกับองค์กรใดๆ
วทันยา กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่มีใครมาชี้นิ้วสั่งการ และสมาชิกพรรคทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะแสดงออก จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่จะต้องกลับมาประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นเหมือนที่เคยศรัทธาไว้หรือไม่
วทันยา ยังมองอีกว่า สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง นั่นเป็นเพราะพรรคไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน หรือเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนไม่ได้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะภายในเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด การทำหน้าที่ในฐานะพรรคการเมือง ต้องยึดโยงกับประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเพื่อคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
แม้ว่า กระแสของสมาชิกพรรคจะเทไปทาง เฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ วทันยา ยังมองว่า ในฐานะเลือดใหม่ของพรรค และเชื่อในวิถีแห่งอุดมการณ์ จึงขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง พร้อมเชื่อว่า เพื่อนสมาชิกพรรึหลายคนคงมองไม่ต่างกัน และพรรคจะไปไม่ถึงฝั่งฝันเลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนยินยอมพร้อมใจ
“อนาคตของพรรควันนี้ไม่ได้อยู่ที่มือของใคร การเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของพรรค อยู่ที่มือของเราทุกคน ขอให้ทุกคนเปิดโอกาสให้เดียร์ได้เข้าไปต่อสู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง การให้โอกาสครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์เติบโตไปในอนาคต” วทันยา กล่าว
วทันยา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากวันนี้เราต้องการจะฟื้นฟูพรรค เราต้องเลิกที่จะเลือกหัวหน้าพรรคจากความสัมพันธ์ หรือระบบอุปถัมภ์ เราต้องเลือกคนจากคุณสมบัติ และความสามารถ ไม่เช่นนั้นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในพรรค และสุดท้ายคนที่เสียหายที่สุดคือ ประชาชน และพรรคที่จะต้องสูญเสียบุคคลที่มีความรู้ความสามารถออกไป