ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดของเด็กต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุมายาวนาน โดยเฉพาะวิธีการรับมือดูและประชากรสูงวัย ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติระบุว่า ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก โดยวัดจากสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว อิตาลียังมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 24.5% และ 23.6% ในฟินแลนด์ ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับสัดส่วนรองจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่น มีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอยู่ในอัตรา 34.8% ภายในปี 2583
ทั้งนี้ อัตราการจ้างงานผู้สูงอายุของญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่มประเทศที่สูงที่สุดในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก โดยญี่ปุ่นมีคนงานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นมากกว่า 13% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี อัตราการจ้างงานผู้สูงอายุ ช่วยบรรเทาภาระการใช้จ่ายด้านประกันสังคมของประเทศได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับปีงบประมาณหน้า โดยงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นงบด้านค่าประกันสังคมที่สูงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเพิ่มอัตราการเกิดในประเทศประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของแรงงาน ทั้งนี้ อัตราการเกิดของเด็กกำลังชะลอตัวในหลายประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น แต่ปัญหาดังกล่าวกลับมีความรุนแรงอย่างมากในญี่ปุ่น
มีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นมีทารกเกิดน้อยกว่า 800,000 คนในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตัวเลขการเกิดของทารกในญี่ปุ่นมีมากกว่า 2 ล้านคน
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นจวนที่จะพบกับปัญหาการบริหารจัดการประเทศต่อไป ในฐานะการเป็นสังคมได้ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นยังคงมีความลังเล ที่จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงในญี่ปุ่นเอง
ประเทศอื่นๆ ในเอเชียกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน โดยเมื่อปีที่แล้ว จำนวนประชากรของจีนมีอัตราลดลงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2504 ในขณะที่เกาหลีใต้พบรายงานอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก
ที่มา: