ไม่พบผลการค้นหา
บ้านสี่เสาเทเวศร์ ประตูเปิดคราใด ย่อมมี ‘สัญญาณ’ มายังรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ผ่าน ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่อยู่ท่ามกลางสายธารการเมืองมาไทยกว่า 40 ปี ผ่านวิกฤตการณ์การเมืองมาจำนวนมาก จนถึงขั้นลอบสังหารก็เคยมี แต่ 'ป๋าเปรม' ก็ยังคงยืนหยัดมาได้

ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ ‘ป๋าเปรม’ ได้สะกิดเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หลังได้นำรัฐมนตรี ทหาร - ผบ.เหล่าทัพเข้าอวยพรและขอพรวันปีใหม่ 2562

ครั้งแรก เมื่อปลายปี 2560 ‘ป๋าเปรม’ ได้เตือน พล.อ.ประยุทธ์ ว่ากองหนุนของรัฐบาลลดลงไป แต่ปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัด “ผมสนใจงานการเมือง” ตามมาด้วยการปูทางตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อนำ พล.อ.ประยุทธ์ กลับบ้านนรสิงห์ ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง พร้อมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับว่า ตนเองเป็น ‘นักการเมือง’ มากขึ้น จึงเป็นที่มาของคำเตือนที่ให้มอง ‘คนเห็นต่าง’ อย่าง ‘เป็นมิตร’ ด้วย

"ขอให้นายกฯ เห็นว่าฝ่ายค้านเห็นต่าง ก็เห็นต่างอย่างมิตร แต่อย่าเห็นต่างเป็นศัตรูกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ ขอให้คิดว่าความเห็นต่างต้องมี แต่มีอย่างมิตร ผมอยากให้นายกฯ ทำตัวอย่าง ว่าผมเห็นต่างกับคุณ แต่ผมก็เป็นเพื่อนกับคุณ ก็จะทำเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ราบรื่น ขอฝากนายกฯ ไว้ อาจจะต้องจำไปใช้ตามที่ผมพูดไว้ก็ได้ เพราะผมเคยใช้มาแล้ว" พล.อ.เปรม กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา 4 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจในการ ‘ควบคุม-กำกับ’ คนเห็นต่างมาจำนวนมาก ผ่านการให้เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจไปพูดคุยทั้งที่บ้านหรือนำตัวมาค่ายทหาร ที่เรียกกันว่า ‘ปรับทัศนคติ’ รวมทั้งการที่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม คสช. หรือฝ่ายเดียวกันอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ ‘กองหนุนลด’ ลงไป 

แต่ในอนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็น นายกฯอีกครั้ง ก็ต้องเจอกับ ‘ฝ่ายค้าน’ ซึ่งจะมีแรงปะทะตามมามากขึ้น


คำพูดของ ‘ป๋าเปรม’ จึงเป็นห่วงไม่น้อย หากถึงวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ในฐานะ ‘นักการเมืองเฟรชชี่’ ที่ต้องเจอกับ ‘นักการเมืองจูเนียร์-ซีเนียร์’ ที่กรำศึกการเมืองมานาน และไม่มีอำนาจ มาตรา 44 ในการลงดาบใครได้อีก


ป๋าเปรมเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์

อีกทั้งกระบวนการ ‘เช็คบิลคืน’ ที่มีได้ทุกเมื่อด้วย

แต่สิ่งที่ พล.อ.เปรม กล่าวก็ทำให้มีการตีความไปว่าในอนาคตจะมี ‘รัฐบาลแห่งชาติ-เฉพาะกาล’ ขึ้นมาหรือไม่ ? 

หลังมีกระแสข่าวมาตลอด หากในอนาคตไม่สามารถตั้งนายกฯ ได้ ถ้าไม่มีใครชนะขาด รวมทั้งกระแสการยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ หลังลงเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ อย่างชัดเจน หรือหากเกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งขึ้น จึงต้องตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกิจ’ ขึ้นมาทำหน้าที่ เซ็ตระบบเลือกตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับในกรอบเวลา 1 ปี โดยมี ‘นายกฯ ทันใจ’ ที่เป็นที่ยอมรับ แต่สถานการณ์ในเวลานี้ก็ยากจะเกิดขึ้น เว้นแต่มีเหตุ ‘ปัจจัย’ ใดกระตุ้นขึ้นมา เมื่อใดก็ได้

“ผมคิดว่าถ้านักการเมือง ที่เรียกว่า ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เห็นแก่ความเป็นมิตร ทุกอย่างก็จะราบรื่น และไปได้สวยงาม ต้องพูดว่า เห็นต่างกันด้วยความเป็นมิตรจะดีมาก เพราะทุกคนเป็นมิตรกันและเห็นต่างกันแค่นั้น” พล.อ.เปรม กล่าว

แต่การออกมาของ ‘ป๋าเปรม’ ครั้งนี้ ก็เป็นสัญญาณตรงตามที่ทุกฝ่ายมอง คือ ยุคนี้บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย โดยการต่อสู้ใดๆ ก็ทำผ่าน ‘สภา’ อยู่ในขบวนการทั้ง ‘ฝ่ายค้าน’ และ ‘ฝ่ายรัฐบาล’ หมดยุคการเมืองริมถนน-ก่อม็อบ ซึ่งก็สอดรับกับที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และ เลขาธิการ คสช. ได้กล่าวไว้ด้วย 

“เราเป็นคนไทยด้วยกันต้องยอมรับกติกา การเลือกตั้งต้องมีแพ้มีชนะ หลังจากการเลือกตั้งแล้วอยากให้ไปสู้กันในสภา อย่ามาสู้นอกเวที ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวให้ประชาชนเดือดร้อน” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

อภิรัชต์

แต่การออกมาพูดของ พล.อ.เปรม ก็เป็นสิ่งที่สอดรับกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะ ‘ระวังตัว’ มากขึ้นในการพูดและวางตัวต่างๆ เพราะใกล้สู่ห้วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งแล้ว หลัง ‘วิษณุ เครืองาม’ มือกฎหมาย คสช. ได้สะกิดเตือน ให้ระวังเข้าข่ายหาเสียงด้วย

อีกทั้งหลายอย่างแม้ ‘กฎหมายไม่ได้ห้าม’ แต่ก็เป็นเรื่องของ ‘ความเหมาะสม’ จึงทำให้รัฐบาล คสช. ได้รับ ‘คำเตือนที่สำคัญ’มาแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้มาย้ำกับ ครม. ให้วางตัวให้เหมาะสมในช่วงเลือกตั้งด้วย แม้จะไม่ใช่ ‘รัฐบาลรักษาการณ์’ ก็ตาม 

แต่กำหนดการ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ก็ยังคงมีอยู่ โดยจะต้องดูว่า 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ จะลาออกเมื่อใด หลังว่ากันว่าหลังปีใหม่จะลาออกทันที เพราะ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็จะประกาศใช้ด้วย โดยกฎระเบียบการหาเสียงก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็น ‘หม่อมอุ๋ย’ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ที่ออกมาระบุ 8 เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรเป็นนายกฯ ต่อ ซึ่งได้มีการอ้างว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ รวมทั้ง เพื่อน ตท.12 ในเรื่องบรรษัทน้ำมัน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เลี่ยงตอบคำถาม 

“ยืนยันว่าผมไม่มีหรอก แล้วมันมีหรือไม่ล่ะ มันเกิดอย่างที่เขาพูดหรือไม่ ไม่ได้เกิดซักอัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์.jpg

แต่ดูจากสถานกาณ์แล้วยิ่งใกล้เวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะลง ‘หลังเสือ’ ก็ยิ่งมีกระแสโจมตีมากขึ้น ที่สำคัญหลายอย่างมาจากคนใกล้ตัวหรือกองหนุนเดิม ไม่นับรวมกลุ่มต้าน คสช. ที่จ้อง ‘เช็กบิลคืน’อยู่ด้วย หากมีอำนาจหลับมากอีกครั้ง 

แต่ขั้วต้าน คสช.บางราย ที่เพิ่งเปิดตัวและลูกหลานได้รับประโยชน์จาก คสช. ก็กลับนิ่งเงียบไป ซึ่งก็สะท้อนว่า คสช. ก็รู้ว่าจะต้อง ‘ระวัง-จัดการ’ กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ทำให้กระสุนตกไปที่พรรคพลังประชารัฐมากกว่า คสช.

จึงต้องติดตาม ‘ภาพการเมืองใหม่’ นับจากปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แน่นอนว่า ‘ความขัดแย้ง’ ทางการเมืองที่ยาวนานมานับ 10 ปี จะคลี่คลายลงไปได้บ้าง ซึ่งแต่ละพรรคและขั้วต่างๆ ก็ต้อง ‘ประเมินตัวเอง’ ว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน 

เพราะปัจจัยทางการเมืองหลายอย่างก็ ‘เกินความควบคุม’ ได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ ‘เสียงประชาชน’ จะเป็นผู้ตัดสินเอง อย่าได้ดูแคลนประชาชนเป็นอันขาด เพราะการทำให้ ‘ถูกกฎหมาย’ กับ ‘ให้เหมาะสม’ มีความสำคัญไม่น้อย เพื่อให้สังคม ‘ยอมรับ’ ด้วย

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog