“คำถามก็คือรัฐกำลังจะหากำไรหรือไม่ รัฐกำลังนำพาประเทศไปสู่สังคมการพนันหรือเปล่า ถ้าปล่อยให้คิดและทำได้แบบนั้น มันเสี่ยงที่จะทำให้หลายคนเล่นการพนันเป็นอาชีพ” รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพนัน บอกกับวอยซ์ออนไลน์หลังจากถูกถามถึง “การพนันรูปแบบใหม่ๆ ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำเสนอ โดยเฉพาะ ‘หวยบนดิน’ ที่คนไทยคุ้นเคย
เกือบ 16 ปีมาแล้วที่โครงการหวยบนดินเกิดขึ้นครั้งแรก เเละสร้างรายได้ในระดับหลักแสนล้าน ระหว่าง 1 ส.ค. 2546 – 16 ก.ย. 2549 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนจะล้มหายตายจากไป ด้วยฝีมือของรัฐบาลหลัง “คณะรัฐประหาร” ขณะที่เจ้าของเเนวคิด "ทักษิณ ชินวัตร" เพิ่งถูกศาลฎีกาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ฝ่าฝืนกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
คำถามดังๆ ก็คือ วันนี้เราพร้อมแล้วใช่ไหมกับหวยบนดิน ?
จากประสบการณ์ในการติดตามสถานการณ์และทำวิจัยเรื่องการพนันในเมืองไทยมาหลายสิบปี รศ.ดร.นวลน้อย ระบุว่า การมองเพียงแค่ ‘เม็ดเงิน’ มาร์เก็ตแชร์และผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับเพียงอย่างเดียว ยังไม่พอที่จะบอกว่าคุ้มค่า เมื่อรัฐอยู่ในฐานะผู้บริหารประเทศจึงจำเป็นยิ่งที่ต้องมองผลกระทบในเชิงลบที่ซ่อนอยู่หลายมิติและชั่งน้ำหนักให้รอบด้าน
“แค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี” เธอบอกต่อ “แต่กำไรมันไม่ได้มีศีลธรรมนะ ในฐานะรัฐ คุณต้องดูแลความสงบสุขและความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย”
รศ.ดร.นวลน้อย เผยว่า ทั่วโลกมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การปล่อยให้เกิดการพนันที่มากเกินไป สร้างความเสียหายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงครอบครัว ตัวอย่างเช่น การขาดวินัยของแรงงานเนื่องจากเอาแต่คาดหวังกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการพนัน จนกระทบกับการทำงานซึ่งหมายถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ , การติดกับดักการพนันของคนในครอบครัวที่กระทบต่อบุตรหลาน ทั้งในด้านการศึกษาและสุขภาพ
“เราพบว่าหลายคนนำรายได้จากการทำงานไปเล่นการพนัน ซึ่งเป็นการเบียดเบียนรายจ่ายอื่นๆ ในครอบครัว ทั้งการศึกษาและการพัฒนาด้านสุขภาพของลูก นั่นแปลว่า เด็กๆ กำลังสูญเสียโอกาสพัฒนาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี”
รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ล่าสุดเมื่อปี 2560 พบว่า ประสบการณ์การพนันลำดับที่ 1 และ 2 คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล 79 เปอร์เซ็นต์ และหวยใต้ดิน 74 เปอร์เซ็นต์
หวยใต้ดินยังเป็นการพนันแรกที่คนไทยเล่น 38.7 เปอร์เซ็นต์ และมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนันเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558
สลากกินแบ่งรัฐบาล มีจำนวนผู้เล่น 21,434,104 คน เพิ่มขึ้น 12.4 เปอร์เซ็นต์
ที่น่าเป็นห่วงและน่าสนใจก็คือ วงเงินหมุนเวียนในตลาดการพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลมีสูงถึง 140,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 82.2 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงิน 63,406 บาท โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนซื้อ 9 งวดต่อปี 275 บาทต่องวด
ขณะที่สถานการณ์ "หวยใต้ดิน" 2560 พบว่า มีผู้เล่น 17,324,110 ล้านคน คนเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2558 โดยมีเงินหมุนเวียนทั้งสิ้น 135,142 ล้านบาท
72.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นหวยใต้ดิน หรือประมาณ 12 ล้านคน ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไปด้วย
รศ.ดร.นวลน้อย เชื่อว่า หากนำขึ้นมาบนดินเป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย ก็ไม่สามารถเอาชนะการเล่นนอกกฎหมายได้ โดยเฉพาะในแง่ของเงินหมุนเวียน เนื่องจากการกระทำใต้ดินมีข้อจำกัดที่น้อยกว่า เช่น ภาษี อัตราการต่อรองและกำไร โปรโมชันส่วนลด การติดสินเชื่อ โดยภาครัฐอาจได้เปรียบในเรื่องความน่าเชื่อถือและความรู้สึกดีที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย
“สัดส่วนใต้ดินอาจจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมดไป เชื่อว่ายังจะสูงกว่าของรัฐ ขณะที่บางคนจะเลือกเล่นทั้งสองแบบ”
เธอยังเห็นว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการปราบปราม ‘หวยใต้ดิน’ อย่างจริงจัง จนน่าเป็นห่วงว่าการนำขึ้นมาบนดินจะประสบความสำเร็จในภาพรวมหรือไม่
“เราต้องปราบปรามด้วย ไม่ใช่ว่ายังปล่อยให้มีใต้ดินอยู่กลาดเกลื่อน แล้วรัฐก็มาออกผลิตภัณฑ์แข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหวังเอาชนะ” ผอ.ศูนย์ศึกษาการพนันบอก ก่อนจะยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งราคาเกิน 80 บาท ด้วยการเพิ่มจำนวนสลากมากขึ้น แทนที่จะไปเข้มงวดในการปราบปราม
“ในทางบวกเราหาเหตุผลมารองรับกันง่ายๆ แต่ในทางลบ เหมือนขยะเลย ทิ้งเอาไว้ซะเกลื่อน”
ทั้งนี้โครงการหวยบนดินสมัยรัฐบาลทักษิณ มีจุดประสงค์เพื่อนำของผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดินและนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ โครงการสำคัญที่นำรายได้จากหวยบนดินไปใช้ คือ โครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ (ODOS) (อ้างจาก นพนันท์ วรรณเทพสกุล,โครงการวิจัย “เศรษฐกิจหวยใต้ดิน : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน,หน้า 25-32) โดยมีจำหน่ายในราคา 20 , 50 และ 100 บาท ต่อหนึ่งสลาก พิมพ์การสั่งจองของตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ อัตราการจ่าย 2 ตัว อยู่ที่ 55 บาท และ 3 ตัว อยู่ที่ 400 บาท
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลายประเทศที่อนุญาตให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย มักมีคณะกรรมการที่มีอิสระแยกตัวออกจาก 'ผู้ควบคุม ' ซึ่งก็คือกองสลากฯ ผู้เป็นเจ้ามือในประเทศไทยนั่นเอง เพื่อให้เกิดมิติด้านการกำกับหรือดูแลผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำแผนการลงทุนหลังจากได้รับรางวัล
“บ้านเรามีเพียงหน่วยงานวิชาการหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมเท่านั้น ผิดกับในต่างประเทศที่มีหน่วยงานซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแล” เธอบอกต่อ
“ถ้าตั้งใจเอาขึ้นมาบนดินจริง ต้องมีการออกแบบเป็นโปรแกรมขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์สร้างความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็มีการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายด้วย ซึ่งรัฐจะทำได้หรือเปล่า”
หากการพนันถูกกฎหมายมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งที่ต้องระวังคือ ต้องไม่ก่อให้เกิดภาวะหนี้สิน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ รวมถึงการก่อเหตุอาชญากรรมในสังคม
ทั้งนี้ ปี 2560 มีคนไทยมากถึง 937,713 คน เป็นหนี้จากการพนัน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 12,258 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 13,188 บาทต่อคน โดยส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งแก้ปัญหาด้วยการยืมเงินเพื่อน
“คุณเล่นได้ แต่ต้องมีสติ อย่างไรก็ตามถ้าลักษณะสังคมมันเอาแต่พูดเรื่องของคนรวยจากการถูกหวย รัฐบาลก็กระตุ้นโดยออกสลากหรือรูปแบบพนันใหม่ๆ ก็น่าเป็นห่วงว่าใช่เรื่องที่ถูกต้องและเป็นเส้นทางที่เราอยากจะเดินไปหรือเปล่า”
ต่อไปนี้คือ 4 ข้อที่ รศ.ดร.นวลน้อย ฝากให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนัก
1.ความถี่ของเกมการพนัน
ถือเป็นปัจจัยที่ได้รับการยอมรับกันแพร่หลายว่าส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงมานักต่อนัก โดยผลลัพธ์ของการเล่นพนันแต่ละครั้งจะสร้างแรงจูงใจในการเล่นครั้งต่อไปด้วย
“อย่าถี่เกินไป สองครั้งต่อเดือนที่เป็นยังมีเวลาได้ตั้งสติ ไม่ว่าจะได้หรือเสีย” รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว
2 เงินรางวัลไม่ควรสูงจนเกินไป เนื่องจากเป็นตัวสร้างจินตนาการให้ผู้คนเกิดความมุ่งหวัง และนำไปสู่การเล่นที่กลายเป็นปัญหา
3. การพนันควรจะอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่มีทุกที่ทุกทาง ซึ่งจูงใจผู้คนอยู่ตลอดเวลา
4. ต้องไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่การพนันก่อนวัยอันควร
“เราไม่ควรส่งเสริมจินตนาการในทิศทางที่ทำให้ความเป็นเหตุเป็นผลลดน้อยลง ซึ่งอาจเรียกจะได้ว่าเป็นการมอมเมา แต่เราควรสร้างการรับรู้ให้ผู้คนเห็นว่าโอกาสที่จะถูกรางวัลนั้นมีน้อยมาก ต้องมีสติ และต้องประเมินว่าการเล่นนั้นกระทบกับชีวิตของตัวเองหรือเปล่า” รศ.ดร.นวลน้อยทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :