ไม่พบผลการค้นหา
เทียบดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่ 85 ของโลก ล่าสุดล่วง 104 จาก 180 ประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบที่ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ประจำปี 2020 อยู่ในอันดับ 104 ของโลกจาก 180 ประเทศ ตามประกาศขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อันดับของไทยถูกปรับขึ้นลงตามปัจจัยที่ผันแปรในแต่ละปี เช่น แหล่งข้อมูลที่สำรวจ หรือจำนวนประเทศ เป็นต้น

อนุชา บอกว่า แม้ว่าปีนี้ไทยจะขยับลงไป 3 อันดับ แต่ไทยยังคงรักษาคะแนนรวมไว้ได้ตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2018-2020 ที่ 36 คะแนน นอกจากนี้ อันดับของไทยในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 19 จาก 31 ประเทศ ส่วนอันดับในอาเซียนดีขึ้นจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5

โฆษกรัฐบาล เผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และทบทวนการปฏิบัติงานใหม่ โดยสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำของ TI เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญา นั้น จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำ ๆ อีกต่อไป

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล 0922.jpg

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา  องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

โดยประเทศเดนมาร์กและประเทศนิวซีแลนด์ ยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน

ในขณะที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2019 (พ.ศ. 2562) จัดอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก ลดอันดับลงมาจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 101 ของโลก ส่วนอันดับในประเทศอาเซียน อยู่ในอันดับที่ 5 ขยับขึ้นมาจากปี 2019 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ซึ่งสิงคโปร์ ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก

เมื่อเทียบคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ที่ประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบว่ามีคะแนนและลำดับขึ้น-ลง ดังนี้

ปี 2557 ได้ 38 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 85 ของโลก ที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปี 2558 ได้ 38 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 76 ของโลก ที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปี 2559 ได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก ที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปี 2560 ได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 ของโลก ที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปี 2561 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 99 ของโลก ที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปี 2562 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก ที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ล่าสุด ปี 2563 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 104 ของโลก ที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

CPI

สำหรับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต  (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) ประเทศที่ได้คะแนนและจัดอยู่ในลำดับต้นๆ มีดังนี้

ลำดับที่ 1 จำนวน 2 ประเทศ เดนมาร์ก 88 คะแนน นิวซีแลนด์ 88 คะแนน

ลำดับ 3 จำนวน 4 ประเทศ ฟินแลนด์ 85 คะแนน สิงคโปร์ 85 คะแนน สวีเดน 85 คะแนน สวิสเซอร์แลนด์ 85 คะแนน

ลำดับ 7 นอร์เวย์ 84 คะแนน

ลำดับ 8 เนเธอร์แลนด์ 82 คะแนน

ลำดับ 9 จำนวน 2 ประเทศ เยอรมนี 80 คะแนน ลักเซมเบิร์ก 80 คะแนน

CPI


ส่วนคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) ในกลุ่มประเทศอาเซียน

อันดับ 1 สิงคโปร์ 85 คะแนน

อันดับ 2 บรูไน 60 คะแนน

อันดับ 3 มาเลเซีย 51 คะแนน

อันดับ 4 อินโดนีเซีย 37 คะแนน

อันดับ 5 ไทยและเวียดนาม 36 คะแนน

CPI


 

สำหรับ ปี 2563 ประเทศไทยมีคะแนนลดลง 1 แหล่งข้อมูล คือ แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2562 ได้ 45 คะแนน)

โดยมีประเด็น ที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่

คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบน และการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบน จากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เข้ารับบริการต้องความสะดวกรวดเร็ว ในการรับบริการ จึงยอมที่จะจ่ายสินบน

ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง นอกจากนี้ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง